สามประเด็นที่ธุรกิจไทยต้องจริงจัง

สามประเด็นที่ธุรกิจไทยต้องจริงจัง

ช่วงนี้ ผมไปพูดเรื่องการกำกับดูแลกิจการให้กับบริษัทเอกชนบ่อย สัปดาห์หนึ่งหลายครั้ง ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

จากความรับผิดชอบปัจจุบันในฐานะกรรมการผู้อำนวยการสถาบันไอโอดีและเลขาธิการโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตหรือ CAC 

 

ที่พูดบ่อยก็เพราะความสนใจของบริษัทเอกชนเรื่องการกำกับดูแลกิจการมีมากขึ้น ซึ่งไม่ได้มาจากกฎเกณฑ์ทางการหรือของหน่วยงานกำกับดูแลที่บังคับให้ทำ แต่มาจากความตระหนักของผู้ประกอบการและกระแสขับเคลื่อนของสังคมหรือผู้ร่วมตลาดที่อยากเห็นการทำธุรกิจในประเทศมีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ และทำธุรกิจอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างกลไกตลาดที่เข้มแข็งให้กับประเทศ นำไปสู่การเติบโตของภาคธุรกิจและการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ

 

แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นนี้ มี 3 ประเด็นที่ภาคธุรกิจควรต้องสร้างความเข้าใจใหม่และต้องทำจริงจัง เพื่อช่วยธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง นำมาสู่ประโยชน์ที่ทุกๆฝ่ายในสังคมจะได้จากภาคธุรกิจของประเทศอย่างแท้จริง

 

1. คือ ลดการทำธุรกิจที่มุ่งแต่หากำไรโดยไม่สนใจหรือคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา แม้กำไรนั้นจะเกิดจากการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมายหรือขาดจริยธรรม นี่คือเรื่องแรกที่ต้องจริงจัง เพราะพฤติกรรมธุรกิจดังกล่าวได้สร้างผลลัพธ์ที่เป็นปัญหาให้กับสังคมมากมายขณะนี้ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะรุนแรง การทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นปัญหารุนแรงของประเทศและแก้ยาก และการเกิดขึ้นแพร่หลายของพฤติกรรมธุรกิจที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายต่างๆ

 

ในกรณีของภาคธุรกิจไทย แม้แนวโน้มในการวางระบบธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีจะมีมากขึ้น แต่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ควรทำก็ยังมีอยู่มาก ไม่มีใครปฏิเสธ สะท้อนจากข่าวต่างๆที่ออกมาเสมอที่บริษัทหรือผู้ประกอบการหาประโยชน์ให้กับตนเองหรือองค์กรโดยทำผิดกฎหมาย 

 

แน่นอนการทำธุรกิจต้องมีกำไร แต่ถ้ากำไรนั้นมาจากการทำผิดกฎหมายหรือทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผลกระทบและความเสียหายต่อตนเองและคนอื่นๆก็จะเกิดขึ้นตามมา 

 

ประเด็นนี้ผมว่านักธุรกิจทุกคนตระหนักและบางคนจะยิ้มเมื่อพูดถึง เพราะเป็นเรื่องที่ส่วนใหญ่ตระหนักดี แต่บางคนก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนหรือหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้

 

สาเหตุหนึ่งก็เพราะการทำธุรกิจถูกขับเคลื่อนโดยเป้าธุรกิจระยะสั้นหรือลัทธิมองสั้น (shorterm-ismมากเกินไป ที่มุ่งแต่กำไรระยะสั้นและผูกผลตอบแทนของผู้บริหารไว้กับเป้าหมายกำไรระยะสั้นโดยไม่สนใจเรื่องอื่นๆ จนเกิดการทำผิดกฎหมายได้ง่ายเพราะผู้บริหารต้องการทำเป้าเพื่อให้ได้ผลตอบแทน 

 

การตั้งเป้าธุรกิจเป็นเรื่องของคณะกรรมการบริษัท กรรมการจึงต้องตระหนักถึงผลของการตั้งเป้าที่อาจสร้างความเสียหายต่อองค์กรตามมา เพราะฝ่ายบริหารจะมุ่งแต่ทำเป้าจนอาจเลือกวิธีการที่ไม่ถูกต้อง กรณีบริษัทโฟล์คสวาเกนก็เป็นตัวอย่างที่ดีของปัญหาลักษณะนี้ 

 

ข้อคิดจากเรื่องนี้ก็คือ การมุ่งแต่กำไรระยะสั้นอย่างเดียวมักสร้างปัญหาตามมาเสมอ และอาจทำให้กำไรของบริษัทในอนาคตจะไม่มีหรือลดลง เพราะไม่ได้ลงทุนหรือให้ความสำคัญกับเรื่องระยะยาวไว้ก่อนหรือถูกจับกุมดำเนินคดีจากเรื่องที่ทำไว้ในอดีต 

 

ดังนั้นการตัดสินใจต้องตระหนักทั้งผลระยะสั้นและผลระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่นักธุรกิจทราบดี แต่บางคนก็ยังทำใจให้อยู่กับเรื่องที่ถูกต้องไม่ได้ นี่คือสิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนและจริงจัง

 

2. น่าดีใจว่าการกำกับดูแลกิจการหรือธรรมาภิบาลเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ตระหนัก แต่ความเข้าใจยังแตกต่างกัน บางคนยังมองการกำกับดูแลกิจการว่าเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามเกณฑ์ (compliance) ให้ตรงกับระเบียบทางการหรือเพื่อให้ได้คะแนนประเมินด้านซีจีที่ดีในสายตานักลงทุน ไม่ได้มองการกำกับดูแลกิจการที่ดีว่าเป็นเรื่องของการสร้างระบบการทำงาน วิธีปฏิบัติ และแนวคิดในองค์กรที่จะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจของบริษัทในระยะยาว 

 

ประเด็นคือการปฏิบัติตามเกณฑ์เป็นเรื่องที่ต้องทำแต่การปฏิบัติตามเกณฑ์อย่างเดียวโดยไม่สร้างมูลค่าใหม่ให้กับธุรกิจของบริษัท ก็จะไม่สามารถสร้างการเติบโตที่ต่อเนื่องให้กับบริษัทได้ การกำกับดูแลกิจการที่ดีจึงควรหมายถึงการสร้างมูลค่าให้บริษัทสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง และจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคณะกรรมการหรือผู้นำบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องวิสัยทัศน์ แผนกลยุทธ์ ผลประกอบการ การบริหารความเสี่ยง วัฒนธรรมองค์กรด้านจริยธรรมที่เข้มแข็ง ระบบการควบคุมที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ และการสร้างความไว้วางใจและการยอมรับในสายตาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามเกณฑ์ นี่คือความหมายของการกำกับดูแลกิจการที่บริษัทไทยต้องพยายามไปให้ถึง

 

3. คือ ความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นจุดอ่อนของธุรกิจไทย ที่มักจะไม่มองเลยตัวเองออกไปว่าสิ่งที่บริษัทหรือคณะกรรมการบริษัทตัดสินใจทำจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆหรือสังคมอย่างไร ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่บริษัทจดทะเบียนไทยได้คะแนนประเมินด้านซีจีต่ำสุด คือ ไม่มีแนวปฏิบัติและนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ไม่มีการกำหนดนโยบายและเปิดเผยแนวปฏิบัติต่อคู่ค้าและเจ้าหนี้ ไม่มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต ไม่มีการกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการปกป้องผู้แจ้งเบาะแส หรือจัดให้มีช่องทางสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะแจ้งหรือร้องเรียนบริษัทกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิ 

 

ความไม่สนใจประเด็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทไทยมีอยู่มาก แม้ในบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ของประเทศ ซึ่งการละเลยและไม่สนใจผลกระทบที่จะมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นสามารถทำลายโอกาสของการเติบโตในระยะยาวได้ เพราะความไว้วางใจที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีต่อธุรกิจของบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ ถ้าบริษัทไม่ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โอกาสที่บริษัทจะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องและยาวนานนั้นก็อาจจะยาก นี่คืออีกหนึ่งบทบาทที่บริษัทไทยควรต้องจริงจังและให้ความสำคัญ เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญต่อความยั่งยืนของธุรกิจ

 

นี่คือ 3 ประเด็นที่ภาคธุรกิจไทยต้องพยายามเปลี่ยน ต้องเดินออกจากพฤติกรรมปัจจุบันไปสู่พฤติกรรมใหม่ ลดการทำกำไรอย่างผิดกฎหมายและขาดจริยธรรม มองการกำกับดูแลกิจการว่าเป็นหน้าที่ของการสร้างมูลค่าให้กับบริษัทในระยะยาว และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ