มองไกลไปข้างหน้าแบบ Foresight

มองไกลไปข้างหน้าแบบ Foresight

เทคโนโลยีจะมีการทำงานเพื่อมนุษย์ มากกว่าการทำงานร่วมกับมนุษย์ ถ้ามนุษย์หวาดระแวงและไม่ไว้ในในเทคโนโลยีก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนา

ด้วยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โลกไร้พรมแดนและการเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้บริหารต้องวางแผนเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่บริบทใหม่ที่ทันสมัยและไฮเทคมากขึ้น นักธุรกิจชั้นนำของโลก นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตศึกษา หลายคนพูดเชื่อมโยงตรงกันถึง 4 ประเด็นสำคัญคือ

 

(1)  ผลิตภาพใหม่ในอนาคต (Productivity in the Future) จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราจะอธิบายหรือวัดผลของผลิตภาพอย่างไรในระบบที่ชาญฉลาด อาทิ Smart factory ในภาคอุตสาหกรรม หรือ Smart farm ในภาคเกษตรกรรม ที่มีคนทำงานที่ใช้แรงงานน้อยลงอย่างมาก และมีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่

(2)  การผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่ไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะการไหลของวัตถุดิบผ่านกระบวนการผลิตต่างๆจนเป็นสินค้าสำเร็จรูป (Physical flow) และ การป้อนข้อมูลเข้าหรือดึงข้อมูลออกจากระบบฐานข้อมูลที่เลื่อนไหลไปในแต่ละกระบวนการ (Information flow) เท่านั้น หากแต่เครื่องจักรสามารถคุยกับเครื่องจักร โรงงานเชื่อมต่อกับโรงงาน (End-to-End Connectivity) คำสั่งซื้อจากลูกค้าส่งต่อโดยตรงถึงกระบวนการผลิต และการสั่งวัตถุดิบตรงไปถึงซัพพลายเออร์

(3)  การจัดการความรู้ภายในองค์กร (Knowledge management) เริ่มเป็นระบบ ทักษะและความสามารถหลายด้าน (Multi-skill) อาจไม่เพียงพอ แต่พนักงาน (Knowledge worker) ที่มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เป็นที่ต้องการมากขึ้น

(4)  นวัตกรรมจากบริษัทขนาดเล็ก (Tech Startups) ที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัว และไม่ถูกครอบงำโดยกฎเกณฑ์กติกรที่ยุ่งยากเทอะทะ สามารถเชื่อมโยงเข้ากับการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ทุกความต้องการได้รับการเติมเต็มอย่างทั่วถึงรอบด้านมากกว่าเดิม

 

แต่กระนั้นการคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Anticipating Change) ก็เป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่ใช่ใครจะทำได้โดยลำพัง จำเป็นต้องระดมสมองของนักคาดการณ์อนาคต ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้จริงในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน โดยจำลองสถานการณ์นั้นๆในรูปแบบที่เรียกว่า Foresight Framework and Scenario

 

ในงานประชุมสัมมนานานาชาติ The International Risk Assessment and Horizon Scanning Symposium หรือ IRAHSS 2017 ในชื่อหัวข้อว่า A Journey to The Future จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2560 ที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีนวัตกรรมระดับชั้นนำของโลก และติดอันดับ Top 3 มาหลายปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ the National Security Coordination Secretariat (NSCS) งานดังกล่าวเป็นการรวบรวมนักอนาคตศึกษา (Futurist) จากประเทศต่างๆทั่วโลกมากกว่า 500 คน โดยคุณนันทพร อังอติชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และคุณทศพล ระมิงค์วงศ์ ผู้จัดการส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะผู้บริหาร Center of Excellence for Foresight ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานในครั้งนี้ ได้เก็บตกเรื่องราวและประเด็นน่าสนใจแบบ Online ทางไกล วันต่อวันในทันทีประหนึ่งนักข่าวภาคสนาม

 

คุณนันทพร ได้เล่าให้ฟังว่า IRAHSS มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของ Futurist ทั่วโลก ในประเด็นที่เป็นแรงผลักดันสำคัญ (Driving force) โดยในปีนี้ได้หยิบยกหัวข้อ Black Swansand Black Elephants มาอภิปรายร่วมกัน โดยให้ความสำคัญใน 4 เรื่องได้แก่ The Future Geopolitical Landscape, The Future of Technology, The Future Society และ The Future of Terrorism เรียกว่าครบรอบด้านในทุกมิติจริงๆ

 

ประเด็นที่น่าสนใจของงานคือ การหาแรงขับเคลื่อนที่เป็น Black Elephants คือเรื่องที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้น แต่มนุษย์พยายามที่จะเพิกเฉยต่อเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุผลบางอย่างหรือยังไม่เห็นพ้องตรงกันถึงเหตุปัจจัย ดังเช่นประเด็นเรื่อง Global Warming ส่วน Black Swans คือเรื่องที่หากเกิดขึ้นแล้ว จะสร้างผลกระทบที่รุนแรงมาก แต่ทว่าก็เป็นสิ่งที่ยังถือว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก

 

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงการมองโลกในแบบองค์รวม (Holistic View) เนื่องจากโลกทุกวันนี้อยู่ในสภาพการณ์แบบ VUCA World (Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity) หรือ TUNA World(Turbulence, Uncertainty, Novel, Ambiguity) ถ้าหากไม่หันมามองโลกในแบบองค์รวม การมีปัญหาในที่เล็กๆที่หนึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงได้ เพราะโลกเรานั้นเชื่อมโยงกัน (Connectivity) และมีความซับซ้อนมากขึ้น (Complexity) ทั้งนี้ Mr. Peter Ho ที่ปรึกษาอาวุโสของ Centre for Strategic Futures ซึ่งเป็นหน่วยงานของสำนักนายกรัฐมาตรีของรัฐบาลสิงคโปร์ ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำ Scenario Building (จำลองสถานการณ์) ในสภาวะโลกที่ผันผวนอย่างรุนแรง โดยต้องทำ Strategic Anticipation เพื่อที่จะทำให้เกิดการบริหารจัดการที่เกิดการเปลี่ยนแปลง (Game Changing) ได้

 

โดยในการประชุมสัมมนาวันแรกของงาน ยังกล่าวถึง 7 เทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมโลกที่เรียกว่าเป็น Disruptive Technologies ซึ่งจะสร้างมูลค่ามหาศาลในอนาคต ได้แก่ Deep Learning, Mobility Services, 3D printing of finished products at scale, CRISPR และเทคโนโลยีที่เกี่ยข้อง Robotics and Automation, Blockchain และ CryptoAsset สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต ได้มีการอภิปรายร่วมกันว่า เทคโนโลยีจะมีการทำงานเพื่อมนุษย์ มากกว่าการทำงานร่วมกับมนุษย์ ซึ่งถ้ามนุษย์หวาดระแวงและไม่ไว้ในในเทคโนโลยีก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีต่อไปในอนาคตได้

 

ครั้งหน้าจะมาเล่าถึงรายละเอียดของเนื้อหาการประชุมที่น่าสนใจในวันที่สองของงาน อย่างน้อยเราจะได้รู้ว่าผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่อยู่ในวงการอนาคตศาสตร์ เขากำลังพิจารณาหรืออภิปรายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร