ระหว่างความกลัวและความหวัง : การศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้สึก

ระหว่างความกลัวและความหวัง : การศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้สึก

ผมได้รับเกียรติให้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่อง “การศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้สึก” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

จึงขอนำบางประเด็นมาเล่าสู่กันฟังนะครับ การแลกเปลี่ยนดำเนินไปใน 2 ประเด็นประเด็นแรก ได้แก่ ความหมายและความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้สึก ประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องที่ว่าเราจะศึกษา “ความรู้สึก อย่างเป็นประวัติศาสตร์ได้อย่างไรบ้าง แต่สำหรับความเรียงต่อไปนี้จะพูดประเด็นแรกประเด็นเดียวนะครับ

 

สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกหลายแห่งได้ตระหนักว่าหากไม่ทำศึกษาทำความเข้าใจ อารมณ์ความรู้สึก” ให้ลึกซึ้งและครอบคลุมมากขึ้น ก็จะไม่มีทางที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนานัปการที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันได้ เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทุกคนพบว่าพลังที่ผลักดัน/เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของทั้งส่วนที่เป็นคนในฐานะปัจเจกชน และกลุ่มทางสังคมให้มีปฏิบัติการณ์ต่างๆหลากหลายมากมายนั้น เป็นผล/หรือมาจากการผลักดันทางด้านอารมณ์ความรู้สึก แต่สังคมความรู้ทั้งหลายกลับไม่สามารถที่จะเข้าใจได้เลยว่าชุดของอารมณ์ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นจากอะไร และส่งผลต่อการกระทำของคนในสังคมรวมทั้งเคลื่อนสังคมไปพร้อมๆกันได้อย่างไร

 

ความต้องการเข้าใจ อารมณ์และความรู้สึก ได้ทำให้การศึกษาทางด้านประสาทวิทยา (Neuroscience )ขยายตัวออกไปศึกษาได้ลึกซึ้งมากขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญว่าระบบประสาทที่ทำให้เกิดการรับรู้และผัสสะการทางอารมณ์ความรู้สึกนั้นมีความสัมพันธ์อยู่กับประสบการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละพื้นที่และในแต่ละช่วงเวลาอย่างไร 

 

เราไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าต่อม อะมิกดาลา (Amygdala) ที่ทำหน้าที่ในการรับรู้ด้านอารมณ์ความรู้นึกซึ่งมีมาตั้งแต่มีมนุษย์นั้นทำไมจึงทำให้คนแต่ละยุคสมัยและแต่ละพื้นที่นั้นมีความกลัว มีความหวัง และมีความรู้สึกต่อสรรพสิ่งไม่เหมือนกัน ( มีความกลัวเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวและการปฏิบัติการณ์ต่อความกลัว ไม่ว่าจะหลีกหนีหรือจัดการสยบความกลัวนั้นไม่เหมือนกัน )

 

การขยายตัวของการศึกษาประสาทวิทยาทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมากในการศึกษาความรู้สึกของมนุษย์แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจความสลับซับซ้อนของความรู้สึกของผู้คนได้อย่างแท้จริง จึงทำให้เกิดกระแสของการทำงานร่วมกันของหลายสาขาวิชาเพื่อที่จะอุดช่องโหว่ของความรู้เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์นี้ และส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวของการศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้สึกขึ้นมา

 

ด้วยเหตุนี้ ความต้องการทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ความรู้สึกของประวัติศาสตร์​ของแต่ละพื้นที่จึงได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้สึก (Center for History of Emotion ) ในหลายแห่งหลายที่ในโลก ที่น่าสนใจ ได้แก่ สภาวิจัยแห่งชาติออสเตรเลีย ( The Australian Research Council : ARC) ได้จัดกลุ่ม 5 มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมาร่วมกันในการสร้างดำเนินงานศูนย์ฯ และที่สถาบัน Max Planck Institute for Human Development ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีศูนย์วิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายด้านก็ได้จัดตั้งศูนย์เพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้สึกเช่นกัน โดยมีนักประวัติศาสตร์ความรู้สึกที่มีผลงานยิ่งใหญ่ชื่อ Prof. Dr. Ute Frevert เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยศูนย์นี้

 

กระบวนการแสวงหาความรู้ของศูนย์ศึกษาที่ตั้งขึ้นมานี้เป็นการทำงานร่วมกันของสาขาวิชาต่างๆ กล่าวได้ว่าผลงานวิจัยที่ผลิตออกมาทั้งหมดเป็นผลงานที่เป็นสหวิทยาการอย่างแท้จริง การร่วมมือข้ามสาขาเกิดขึ้นได้อย่างเข้มข้นก็เพราะแต่ละสาขาวิชามองเห็นจุดอ่อนจากสาขาของตนมากขึ้นนั้นเอง

 

กล่าวได้ว่า ความต้องการทำความเข้าใจความรู้สึกของคนในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละพื้นที่เป็นผลอย่างสำคัญจากความรู้สึก 2 ชุด ได้แก่ ความกลัวและความหวัง ( Fear and Hope) เพราะเราไม่สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของผู้คนในวันนี้ เราจึงเกิดความกลัว แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังมีความหวังที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จึงทำให้เกิดการขยายตัวของการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ

 

นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งที่ได้เปลี่ยนมาศึกษา “อารมณ์ความรู้สึก” และมีชื่อเสียงมาก กล่าวว่าท่านเข้ามาศึกษาเรื่องนี้เพราะเหตการณ์ถล่มตึก 9/11 ได้ทำให้เกิดคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกร่วมของผู้คน เช่นความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia ) และความหวังที่ทำให้เกิดการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เหลวไหลที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา

 

เช่นเดียวกับสังคมไทย เรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับปัญหาเรื่อง ความกลัวและความหวัง” เช่นกัน คนครึ่งหนึ่งของสังคมกำลังตกอยู่ในวังวนของความกลัวความเปลี่ยนแปลงและมีความหวังที่จะรักษาสภาพเดิม ขณะที่คนอีกครึ่งหนึ่งของสังคมกำลังอยู่ในเงื่อนไขการสร้าง ความหวัง ในการปรับเปลี่ยนชีวิต

 

แน่นอนว่าการกล่าวเน้นเพียง 2 ชุดความรู้สึกนี้ย่อมกว้างเกินไปกว่าจะจับความเป็นจริงทางด้านความรู้สึกในสังคม แต่เป็นการแบ่งเพื่อทำให้มองเห็นถึงความหมายและความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้สึกนี้

 

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ทำให้ระบอบของอารมณ์ (Regime of Emotion) แบบเดิมที่เคบกำกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวหมดความหมายไป เราจะพบเห็นการกระทำแปลกๆใหม่ๆที่อธิบายได้ได้เลยว่าพวกเขาและเธอทำสิ่งนั้นๆ ได้เพราะอะไร ทำไมจึงทำเช่นนั้น ซึ่งแม้แต่ตัวพวกเขาและเธอเองก็จะตอบหรืออธิบายได้เพียงจากแง่มุมส่วนตัวเท่านั้นซึ่งไม่ได้นำไปสู่ความเข้าใจอะไรเลย

 

ปัญหาที่สำคัญจึงเกิดขึ้น เพราะเราไม่เข้าใจทั้งในส่วนของระบอบอารมณ์ความรู้สึกแบบเดิมว่ามันก่อตัวขึ้นและฝังเข้าไปในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้อย่างไร และในส่วนของการสร้าง ความรู้สึก” ชุดใหม่ว่าเกิดขึ้นมาและมีปฏิบัติการณ์ทางสังคมอย่างไร

 

สังคมไทยจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเริ่มต้นศึกษาความเปลี่ยนแปลงของ/ภายในระบอบความรู้สึกให้อย่างเป็นประวัติศาสตร์กันอย่างจริงจัง เพราะเรากำลังไม่เข้าใจทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา เราได้แต่ใช้ วาทศิลป์เก่าๆมาประนามคนที่ทำอะไรผิดไปจากขนบว่านี่เป็นพวกที่ไม่เป็นคนไทย/รับวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งไร้ความหมายและไร้สติปัญญาโดยสิ้นเชิง