ผีดิบยุคดิจิทัลกำลังฆ่าใคร?

ผีดิบยุคดิจิทัลกำลังฆ่าใคร?

ย้อนไป 199 ปี นักเขียนสาวชาวอังกฤษเขียนนวนิยายขายดีและยังขายได้มาถึงปัจจุบันชื่อ “แฟรงเกนสไตน์”

ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมจำนวนมากมองหนังสือเรื่องนี้ว่าเป็นนวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงเรื่องแรกซึ่งต่อมาได้ถูกนำไปทำเป็นละครเวทีและภาพยนตร์เชิงสยองขวัญ เนื้อเรื่องเป็นการใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทดลองสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาจากชิ้นส่วนของซากศพ การทดลองประสบความสำเร็จ แต่ผีดิบที่ถูกปลุกขึ้นมานั้นทำลายทรัพย์สินและฆ่าคนไปหลายคนก่อนที่มันจะถูกเผา นักวิทยาศาสตร์ผู้ปลุกมันขึ้นมาชื่อวิคเตอร์ แฟรงเกนสไตน์เกือบจะเอาตัวเองไม่รอด

 

การใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสร้าง หรือชุบชีวิตขึ้นมาใหม่มิได้อยู่ในจินตนาการของนักเขียนเท่านั้น หากยังอยู่ในความฝันของนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งอีกด้วย ในระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์กำลังทดลองในแนวของวิคเตอร์ แฟรงเกนสไนต์ มักมีนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันและคนนอกวงการออกมาเตือนว่า ในวันหนึ่งข้างหน้ามนุษยชาติอาจถูกทำลายโดยผลของการทดลองของตนเอง นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องการห้ามนำเทคโนโลยีที่ใช้ถอดแบบร่างกาย (cloning) ของแกะสำเร็จมาทดลองกับคน

 

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ มีรายงานน่าสนใจมากเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ทั้งนี้เพราะอีลอน มัสต์ผู้นำทางด้านการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยออกมาเตือนว่า ความก้าวหน้าทางปัญญาประดิษฐ์อาจทำลายมนุษยชาติหากขาดการควบคุมที่เหมาะสมดังเช่นที่เป็นอยู่ การออกมาเตือนเช่นนั้นดูจะประหลาดมากเนื่องจากมันขัดกับการทำธุรกิจของผู้เตือนเอง

 

อนึ่ง อาจไม่เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางนักว่า อีลอน มัสต์ เป็นคนหนุ่มอายุ 46 ปีที่เกิดในแอฟริกาใต้และตอนนี้มี 3 สัญชาติคือ แอฟริกาใต้ แคนาดาและอเมริกัน เขาเป็นเจ้าของหลายบริษัทซึ่งทำสารพัดกิจการที่ใช้เทคโนโลยีนำสมัยรวมทั้งการสร้างจรวดส่งดาวเทียมไปนอกโลก การสร้างรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบไร้คนขับและการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ในการบรรยายให้ผู้ว่าการรัฐต่าง ๆ ในอเมริกาฟัง 

 

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันรัฐบาลไม่มีกฏระเบียบอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับควบคุมการพัฒนาและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ตามปกติเขาไม่ต้องการให้รัฐบาลร่างกฏระเบียบไว้ล่วงหน้าเพราะมันจะส่งผลให้นวัตกรรมเป็นหมัน แต่สำหรับเรื่องปัญญาประดิษฐ์ เขามองว่าต้องทำไว้ล่วงหน้าเพราะผลกระทบของมันร้ายแรงถึงขั้นทำลายมนุษยชาติ ก่อนที่อีลอน มัสต์จะออกมาแสดงความเห็นนี้ มหาเศรษฐีบิล เกตส์และนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าสตีเฟน ฮอว์คิงได้ออกมาเตือนไว้ในแนวเดียวกันแล้ว

 

การเตือนของบรรดาบุคคลชั้นแนวหน้าเหล่านี้มีเหตุผลหลายอย่างที่พวกเขามิได้สาธยายทั้งหมด แต่ฐานความคิดหลักคือการป้องกันไว้ดีกว่าแก้ การเสนอให้ร่างกฏระเบียบไว้ล่วงหน้าในกรณีของการถอดแบบร่างกายมักอ้างถึงเหตุผลทางจรรยาบรรณ สิ่งที่มักไม่พูดถึงกันคือ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมักเชื่องช้าส่งผลให้การออกกฏระเบียบไม่ทันกาลในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

 

ด้วยเหตุนี้อาจมีผู้มองว่า ประเทศที่ใช้ระบบเผด็จการ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบคงไม่ต้องวิตกเพราะจะสามารถออกกฏระเบียบได้อย่างรวดเร็ว การมองเช่นนี้มีข้อโต้แย้งเช่นกัน กล่าวคือ ในระบบเผด็จการ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ กลุ่มผู้นำมักฉ้อฉลและมีผลประโยชน์ทับซ้อน ฉะนั้น ยากที่จะหวังอะไรจากผู้นำ

 

นอกจากข้อโต้แย้งดังกล่าว ยังมีอีกข้อหนึ่งซึ่งมีผลในแนวเดียวกัน นั่นคือ กลุ่มผู้นำอาจตามไม่ทันวิวัฒนาการและผลของวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยี ยิ่งหากในกลุ่มนี้มีหัวหน้าที่มีอัตตาสูงซึ่งไม่ยอมฟังผู้อื่น หรือฟังเฉพาะพวกสอพลอพร้อมกับปิดปากผู้เห็นแย้ง โอกาสที่จะออกกฏระเบียบอันเหมาะสมให้ทันกาลยิ่งมีน้อยลง หรือซ้ำร้ายอาจออกมาในทางตรงข้าม 

 

คอลัมน์นี้เคยชี้ให้เห็นแล้วว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกิดขึ้นแบบทวีคูณ แต่ความสามารถของคนเราในการติดตามทำความเข้าใจความก้าวหน้าเหล่านั้นเป็นไปในแนวหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง ฉะนั้น สังคมที่ใช้ระบบเผด็จการและมีผู้นำจำพวกนี้มีโอกาสถูกผีดิบดิจิทัลทำลายสูงมาก ในปัจจุบัน การทำลายสังคมโดยเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ตัวทำลายมิใช้ผีดิบจำพวกที่เห็นได้ง่ายส่งผลให้คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น

 

กรุณาเดาเอาเองว่าผมหมายถึงอะไร