ถึงเวลาปฏิรูประบบสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม (2)

ถึงเวลาปฏิรูประบบสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม (2)

ความเป็นอิสระของสถานพยาบาลรัฐ

เมื่อรัฐบาลมีปัญหาเรื่องงบประมาณมากขึ้น ก็พยายามแก้ไข พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเน้นย้ำในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งมีผลกระทบมาถึงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และสถานพยาบาลรัฐ ไม่ว่าในเรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ เงินเดือนค่าจ้างบุคลากรทางการแพทย์ และเรื่องอื่นๆที่ทำให้การทำงานให้บริการประชาชนไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุขของ สปท. ที่เสนอมาหลายประเด็น แต่ดูเหมือนว่าเป็นการแก้ไขในรายละเอียดของกฎหมายมากกว่าการปฏิรูปโครงสร้างของระบบสาธารณสุข จึงถูกมองว่าไม่มีทางสำเร็จ และปัญหาในระบบสาธารณสุขของรัฐก็คงไม่หมดไป

ปัญหาใหญ่ของระบบสาธารณสุขภาครัฐคือการมีผู้เล่นมากไป องค์กรในระบบสาธารณสุขภาครัฐมีทั้งราชการ และองค์กรอิสระที่ถือเป็นองค์กรรัฐแต่ไม่ใช่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจหลายองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้อง และภารกิจขององค์กรอิสระและหลายๆกรมในกระทรวงสาธารณสุขก็ทับซ้อนกัน และแม้กระทั่งพื้นที่ที่ให้บริการก็ทับซ้อนกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลก็คือแทนที่จะเป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับองค์กรอิสระ กลับเป็นการแข่งขันเพื่อดูดซับงบประมาณก้อนเดียวกัน และเกิดปัญหาการเมืองในระบบสาธารณสุขที่ไม่รู้จบจนถึงทุกวันนี้ 

ได้เสนอความเห็นไปหลายครั้งว่า ถ้าจะปฏิรูประบบสาธารณสุขกันจริงๆ คงต้องปฏิรูปที่โครงสร้าง ไม่ใช่แค่แก้กฎหมายสาธารณสุข เพราะกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามโครงสร้าง ถ้าโครงสร้างเป็นแบบเดิม กฎหมายก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ระบบสาธารณสุขของเรามีความแตกต่างจากระบบบริหารราชการแผ่นดินทั่วไป เพราะเรามีสถานพยาบาลที่ต้องทำงานอย่างเป็นอิสระเพื่อให้บริการประชาชนในชุมชนพื้นที่ให้บริการ แต่การบริหารสถานพยาบาลภายใต้ข้อจำกัดตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินทำให้ไม่สามารถทำงานหลักในการให้บริการสุขภาพอนามัยประชาชนได้เต็มที่ 

การแก้ไขกฎหมาย การตั้งกรรมการใหม่ๆไม่ว่าคณะกรรมการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ คณะกรรมการประเมินสถานพยาบาล และคณะกรรมการเขตอีกมากมาย ไม่ช่วยให้การบริหารจัดการดีขึ้น แต่จะทำให้การตัดสินใจของสถานพยาบาลต้องช้าออกไปโดยไม่มีเหตุอันควร เพียงแต่ต้องทำตามระบบระเบียบและขั้นตอน การปฏิรูปจึงไม่ใช่แค่การตั้งกรรมการ การจัดแบ่งพื้นที่เป็นเขตสาธารณสุข การตั้งกรรมการเขต กรรมการศูนย์ และอีกหลายๆคณะกรรมการ เพราะนี่จะทำให้เกิดขั้นตอนและข้อจำกัดโดยไม่จำเป็น 

การแก้ไขมีอย่างเดียวคือต้องให้อิสระสถานพยาบาลดูแลตัวเอง จัดทำงบประมาณเอง เพราะเขามีทั้งรายรับรายจ่ายเหมือนองค์กรธุรกิจที่มีกำไรขาดทุน เพียงแต่ภารกิจของสถานพยาบาลคือให้บริการโดยไม่ขาดทุน แต่ฉับไว ตอบสนองรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

ถ้าไม่ปฏิรูปโครงสร้างออกมาเช่นนี้ ไม่มีทางแก้ไขอะไรได้ ต่อให้ตั้งกรรมการออกมานับสิบนับร้อย ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะการแก้ไขไม่ตรงจุด คณะกรรมการจำนวนมากจะเป็นเพียงคณะกรรมการกลั่นกรอง ไม่มีอำนาจแท้จริง และเกิดค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น 

ถ้าจะมีการปรับปรุงก็ควรเป็นเรื่องโครงสร้างภายในสถานพยาบาล ด้วยจุดประสงค์ให้บริการประชาชนดีขึ้น เป็นองค์กรที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน 

ระบบสาธารณสุขจึงไม่ควรให้มีผู้เล่นมากเกินไปเพราะไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่จะสร้างการเมืองภายในองค์กร