เกาหลีใต้: ทำไมแรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานผิดกฎหมายมากขึ้น

เกาหลีใต้: ทำไมแรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานผิดกฎหมายมากขึ้น

เจาะประเด็นกระแสแรงงานไทยเดินทางไปทำงานประเทศเกาหลีใต้: ทำไมแรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานผิดกฎหมายมากขึ้น

สมาน เหล่าดำรงชัย

นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     บทความนี้ได้นำข้อมูลที่สำคัญๆในประเด็นที่แรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้จำนวนมาก โดยสัมภาษณ์แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่ของไทยและเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน ในโครงการวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศในศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงปี พ..ศ. 2559 ปัจจุบันยังคงมีคนไทยจำนวนมากตั้งใจจะเข้าประเทศเกาหลีใต้ด้วยหลากหลายวิธี เพื่อให้ได้เข้าไปทำงานและปัจจัยดึงดูดที่สำคัญคือ ค่าจ้างที่สูงกว่าประเทศไทย ซึ่งบทความนี้จะนำเสนอรายละเอียดในปัจจัยหลายๆด้าน โดยเฉพาะการลักลอบเดินทางเข้าเมือง กระบวนการจัดหางาน สภาพการทำงาน และความเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์

     กระบวนการจัดหางานและการได้งาน

     ปัจจุบันกระแสการเดินทางไปทำงานประเทศเกาหลีใต้ของคนไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากสถิติข้อมูลของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานประเทศเกาหลีใต้ในปี พ..ศ. 2559 จำนวน 6,627 คน ส่วนในปี พ..ศ. 2558 จำนวน 5,549 คน และปี พ.ศ. 2557 จำนวน 4,482 คน จากสถิติดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าในแต่ละปีมีคนไทยเดินทางไปทำงานประเทศเกาหลีใต้มากขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 22 ซึ่งส่วนใหญ่จะเดินทางไปทำงานด้วยระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติ หรือที่เรียกสั้นๆว่า EPS มาจาก Employment Permit System เป็นระบบการจ้างแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมายของประเทศเกาหลีใต้ และได้ทำข้อตกลงจัดส่งแรงงานกับรัฐบาลไทยโดยกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรม การจัดหางาน กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแลและบริการจัดการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 อย่างไรก็ตามนอกจาก การไปทำงานด้วยระบบจัดส่งโดยรัฐต่อรัฐแล้ว ยังมีระบบการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องอีก 4 วิธีได้แก่ ไปด้วยตนเอง นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงานและไปกับบริษัทจัดหางาน

     อย่างไรก็ตามยังมีกระบวนการที่คนไทยใช้บริการในการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้อีก 5 วิธี แต่กระบวนการเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง และต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ได้แก่ 

     (1) ไปกับบริษัทท่องเที่ยว รูปแบบบริษัทนี้จะแอบอ้างการนำเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดหางานโดยผิดกฎหมายด้วยวิธีพาแรงงานไปประเทศเกาหลีใต้ในฐานะนักท่องเที่ยว และประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่สามารถเดินทางเข้าไปได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า 

     (2) บริษัทจัดหาคู่ รูปแบบบริษัทนี้เริ่มจากการให้บริการส่งหญิงไทยไปสมรสกับชายต่างชาติ โดยมีภาพถ่ายของหญิงไทยแสดงบนเว็บไซต์ให้ชายต่างชาติที่ประสงค์จะมีภรรยาไทยได้เลือก ต่อมาบริษัทได้เปลี่ยนบริการมาเป็นการส่งหญิงไทยไปทำงานบริการทางเพศโดยแอบแฝงในต่างประเทศด้วย 

     (3) โรงเรียนสอนภาษา รูปแบบโรงเรียนนี้จะอาศัยช่องทางที่ประเทศปลายทาง โดยอาศัยการกำหนดให้ผู้ที่จะมาขอวีซ่าไปทำงานในประเทศของตน ต้องมีความรู้ด้านภาษาของประเทศนั้น ทำให้เกิดโรงเรียนสอนภาษาที่เปิดขึ้นเพื่อสอนภาษาดังกล่าว อย่างไรก็ตามโรงเรียนสอนภาษาบางแห่งก็ทำหน้าที่จัดหางานด้วย เพราะผู้ที่มาเรียนภาษาคือผู้หางานทำในต่างประเทศ โรงเรียนบางแห่งเปิดสอนภาษาบังหน้าเพื่อจัดหางานผิดกฎหมาย

     (4) โรงเรียนฝึกอาชีพ รูปแบบโรงเรียนนี้จะเสนอให้แรงงานที่จะไปทำงานต่างประเทศในตำแหน่งงานช่างจะต้องผ่านการทดสอบฝีมือแรงงาน จึงมีโรงเรียนเปิดฝึกฝีมือช่างขึ้นเพื่อเตรียมคนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนฝึกฝีมือแรงงานของบริษัทจัดหางานที่ต้องการส่งคนงานไปทำงานในตำแหน่งช่างฝีมือต่างๆ ส่วนอาชีพอื่นๆที่มีโรงเรียนเปิดสอนอาชีพและโฆษณาว่าจะสามารถไปทำงานต่างประเทศได้ ก็มีอาชีพการนวดแผนไทยและนวดสปา 

     (5) ผ่านสื่อออนไลน์และอินเตอร์เน็ต กระบวนการนี้กำลังเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบันมาก โดยนายหน้าที่จะโฆษณาชวนเชื่อในสื่อออนไลน์หรือเว็บไซต์จัดหางานต่างๆ ซึ่งจะแสดงการชวนเชื่อไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ โดยจะเสนอเงินเดือนที่จะได้รับค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกิจการนวดแผนไทย นอกจากนั้นยังเสนอว่างานนวดแผนไทยจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษอีกต่างหาก

     สภาพการทำงานในประเทศเกาหลีใต้

     ส่วนใหญ่แรงงานไทยที่ลักลอบเข้าเมืองจะทำงานและอาศัยอยู่ในสถานประกอบการ และเอกสารต่างๆโดยเฉพาะหนังสือเดินทางจะถูกนายจ้างยึดเอาไว้ เนื่องจากนายจ้างเกรงว่าเมื่อแรงงานทำงานได้ระยะหนึ่งจะหลบหนีไปทำงานกับนายจ้างคนอื่นที่ให้ค่าจ้างที่สูงกว่า หรือไปทำงานกับญาติพี่น้องในสถานประกอบการอื่น ส่วนใหญ่กิจการที่แรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานได้แก่ นวดสปา เกษตรกรรมและกรรมกรในโรงงานขนาดย่อม

     ความเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

     จากสภาพการทำงานของแรงงานไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงาน ส่วนมากแรงงานที่เสี่ยงต่อการ ถูกบังคับใช้แรงงานและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้แก่ งานนวดสปาและกรรมกรในโรงงานขนาดย่อม ซึ่งงานเหล่านี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของงานและผู้ใช้บริการ ดังนั้นแรงงานไทยที่ทำงานกิจการเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกบังคับให้ทำงานในรอบต่อไปโดยตัวแรงงานเองไม่สมัครใจ ทำงานเลยกำหนดเวลาทำงานปกติ แต่ไม่ได้รับค่าล่วงเวลา หรือถูกบังคับให้ค้าประเวณีในกรณีหญิงไทยที่ทำงานนวดสปา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทำให้แรงงานไทยหลายรายทนกับสภาพการทำงานไม่ไหว จึงหลบหนีหรือร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ในการขอย้ายงาน จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ไทยในประเทศเกาหลีใต้พบว่า ในปี พ.ศ. 2558 มีผู้ร้องทุกข์รวมทั้งสิ้น 2,834 คน สามารถติดตามสิทธิ์ได้ 2,532 คน และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 302 คน กรณีเรื่องร้องทุกข์ ได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทดแทนในกรณีบาดเจ็บ เป็นต้น