Edible Packaging บรรจุภัณฑ์กินได้

Edible Packaging บรรจุภัณฑ์กินได้

Edible Packaging บรรจุภัณฑ์กินได้ นวัตกรรมลดขยะพลาสติก

การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคนี้มักจะชอบดื่มน้ำจากขวดพลาสติก เพราะว่ามีน้ำหนักเบา กะทัดรัด พกพาสะดวก เมื่อใช้แล้วเราก็ทิ้งขวดลงถังขยะขวดพลาสติกที่อยู่ในมือพวกเราไม่นาน ท่านทราบหรือไม่ครับ ว่าหลังจากเราทิ้งขวดพลาสติกแต่ละขวดไป ขวดพลาสติกเหล่านั้นต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึงห้าร้อยปีถึงจะย่อยสลายได้หมด

นอกจากขวดแล้วยังมีสิ่งของอื่นๆ อีกมากมายที่ทำจากพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นถุงแก้วน้ำ หรือกล่องอาหารที่เราใช้ไม่กี่ครั้งแล้วทิ้งไป ลองไปดูในทะเลทั่วโลกตอนนี้มีขยะพลาสติกปนอยู่เป็นจำนวนมาก สมมุติว่าท่านเห็นปลาว่ายน้ำ 5 ตัว จะพบขยะพลาสติก 1 ชิ้น ที่น่าเป็นห่วง คือหากเราไม่หาทางลดขยะพลาสติกเหล่านี้ ตามรายงานThe New Plastics Economy: Rethink the Future of Plastics ของ World Economic Forum คาดว่าในปี 2593 จะมีขยะพลาสติกเยอะพอๆ กับน้ำหนักของปลาในมหาสมุทรรวมกัน และพลาสติกเหล่านั้นก็คงไม่ได้ไปไหน บางชิ้นที่มีขนาดเล็กก็คาดว่าจะถูกปลากินแล้วสะสมในตัวปลาเมื่อคนรับประทานปลาก็จะได้พลาสติกแถมให้ด้วย แล้วท้ายที่สุดลูกหลานเรานี่เองที่จะต้องกินสารพิษต่างๆ เหล่านี้

โชคดีที่ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถูกเพิกเฉยมีหลายทีมวิจัยและหลายบริษัทที่ให้ความสนใจพยายามช่วยกันหาทางออก เช่นการเปลี่ยนมาใช้แก้วไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งบริษัทบางจากคอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้นำมาใช้แล้วในร้าน Intanin Garden ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม

นอกจากไบโอพลาสติกแล้ว ในขณะนี้มีนวัตกรรมที่สามารถช่วยลดพลาสติกที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ คือ บรรจุภัณฑ์กินได้ (Edible Packaging) จากสาหร่ายที่เริ่มมีการผลิตทดลองใช้แล้วอย่าง Ooho Water ซึ่งเป็นตัวอย่างของบรรจุภัณฑ์กินได้ โดยเน้นใช้บรรจุอาหารประเภทเครื่องดื่ม ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยทีม Skipping Rocks Lab ในวิทยาลัย Imperial College กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ โดยOoho ผลิตขึ้นจากสารสกัดที่ได้จากสาหร่ายสีน้ำตาลผสมกับสารประกอบแคลเซียม รูปร่างหน้าตาของ Ooho มีลักษณะเป็นทรงกลมใส ขนาดเท่าผลส้ม ด้านในบรรจุเครื่องดื่มเช่นน้ำเปล่า หรือน้ำหวาน หลายท่านที่ได้ติดตามโลกโซเชียลคงจะเคยได้เห็นคลิปไวรัล และเคยได้เห็นหน้าตาของ Ooho Water นี้มาบ้างแล้ว โดยผู้บริโภคสามารถกิน Ooho ทั้งคำ หรือกัดเปลือกให้เป็นรูเล็กๆดูดน้ำแล้วทิ้งเปลือกก็ได้ ซึ่งเปลือกของOohoนั้นสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เหมือนเปลือกส้มที่เราปลอกแล้วทิ้งไป

Ooho ที่ว่านี้ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนากลุ่มเป้าหมายที่พวกเขาต้องการขยายผล คือผู้เข้าชมงานนิทรรศการ Expo ใหญ่ๆ งานมหกรรมกีฬา เช่น งานฟุตบอล งานวิ่งมาราธอน ที่มีคนมารวมตัวกันเยอะๆ และต้องการเครื่องดื่มสำหรับดับกระหายเป็นจำนวนหลายร้อย หลายพัน ถึงหลายหมื่นแก้วต่อหนึ่งงาน คาดว่านวัตกรรมของพวกเค้าจะช่วยลดขยะจำพวกขวดและแก้วพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งรวมทั้งหลอดดูดลงได้อย่างมหาศาล

ซึ่งในวันที่ 7 ก.ย. ทางบางจากฯ จะจัดงานเปิดตัวสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ Bangchak Initiative and Innovation Center (BIIC) คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานหลายร้อยคน ซึ่งบริษัทบางจากงานได้เชิญทีม Ooho มาออกงาน พร้อมกับโชว์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของพวกเขา เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราคิดค้นนวัตกรรมลดขยะพลาสติกที่น่าสนใจนี้ พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียนวัตกรรมกัน

ในเบื้องต้นทีม Skipping Rocks Lab เล่าว่า กำลังพยายามพัฒนา Ooho ของพวกเขาให้สามารถใช้กับเครื่องดื่มประเภทอื่นเช่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย และทางทีมคาดว่าจะผลิต Ooho ในเชิงพาณิชย์และสามารถพัฒนาเครื่องผลิต Ooho ให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของพวกเขาตามร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปได้ในปีหน้า

ทั้งนี้จากการประเมินของสถาบัน Stratistics Market Research Consulting ประเทศสหรัฐอเมริกา คาดว่า ตลาดบรรจุภัณฑ์กินได้ทั่วโลกในปี2559จะมีขนาดประมาณ715ล้านดอลลาร์ ซึ่งน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายด้านการตลาดได้ปีละประมาณ 8.2 % เป็น 1.25 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2566

นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางเลือกที่จะสามารถช่วยลดปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกในอนาคตได้ครับ