สำรวจรถไฟจีนทั่วโลก

สำรวจรถไฟจีนทั่วโลก

วันนี้ ผมจะพาท่านผู้อ่านสำรวจโครงการรถไฟจีนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกครับ มาดูกันว่า มีกี่โครงการที่สำเร็จลุล่วง มีกี่โครงการที่ล้มเลิกไปแล้ว

โครงการใดกำลังเผชิญอุปสรรค โครงการใดกำลังเดินหน้าด้วยความเร็วสูง

 

รัฐบาลจีนโฆษณามาตลอดว่า เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนเป็น ของดี ราคาถูก จีนสามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วยราคาที่ถูกกว่าเทคโนโลยีของยุโรปและญี่ปุ่น การส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีน ยังเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ซึ่งจีนประกาศพร้อมให้ความช่วยเหลือทางการเงินและเทคโนโลยี สำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในเอเชียและยุโรป

 

ภายในประเทศจีนเอง ปัจจุบันจีนได้สร้างรถไฟความเร็วสูง ความยาวถึง 22,000 กิโลเมตร (ตัวเลขเมื่อสิ้นปี ค.ศ. 2016) คิดเป็นความยาวถึงสองในสามของรถไฟความเร็วสูงที่มีอยู่ทั้งหมดในโลก

 

แต่ภายนอกประเทศจีน การส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงไม่ได้ง่ายอย่างที่จีนเคยวาดฝัน สาเหตุหลักเพราะมูลค่าในการก่อสร้างโครงการมหาศาล หลายประเทศไม่ได้มีความสามารถในการแบกรับภาระหนี้เหมือนรัฐบาลจีน นอกจากนั้น ยังมีอุปสรรคด้านการเมืองและกฎหมายในหลายประเทศด้วย

 

นิตยสารไฟแนนเชียลไทมส์ ร่วมกับสถาบันวิจัย CSIS รายงานว่า จำนวนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่สนใจใช้เทคโนโลยีจีนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีทั้งหมด 23 โครงการ โดย

 

มีโครงการที่สร้างแล้วเสร็จเพียง 1 โครงการ คือโครงการเชื่อมกรุงอังการาและเมืองอิสตันบูลในประเทศตุรกี (มูลค่า 4,100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ)

 

มีโครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง 5 โครงการ (มูลค่ารวม 24,900 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) ได้แก่ โครงการในประเทศลาว (เชื่อมจีนตอนใต้ผ่านลาวมาถึงชายแดนไทย) โครงการในประเทศซาอุดิอาราเบีย โครงการขยายเส้นทางในประเทศตุรกี และโครงการในประเทศอิหร่านอีก 2 เส้นทาง

 

มีโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างศึกษาและวางแผนอีก 12 โครงการ (มูลค่ารวม 114,100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ)

 

มีโครงการที่ล้มเลิกไปแล้ว 5 โครงการ (มูลค่ารวม 47,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) ได้แก่

  1. โครงการในประเทศลิเบีย มูลค่า 3,600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งต้องเลิกไป เพราะเกิดสงครามกลางเมืองในปี ค.ศ. 2011 เพื่อล้มรัฐบาลเผด็จการมูอัมมาร์ กัดดาฟี ขึ้นเสียก่อน
  2. โครงการในประเทศเม็กซิโก (เชื่อม Mexico City – San Juan del Rio - Queretaro) มูลค่า 3,700 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งยกเลิกไปเมื่อปี ค.ศ. 2014 เพราะรัฐบาลเห็นว่ามีปัญหาความไม่โปร่งใสและยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
  3. โครงการในประเทศพม่า (เชื่อมย่างกุ้งกับมัณฑะเลย์) ยกเลิกไปเมื่อ ปี ค.ศ. 2014 ท่ามกลางกระแสต่อต้านและหวาดระแวงอิทธิพลของจีนในพม่า
  4. โครงการในประเทศสหรัฐฯ โดบบริษัท XpressWest ซึ่งเคยสนใจศึกษาแผนลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม LA กับลาสเวกัส ระยะทาง 370 กิโลเมตรโดยว่าจ้าง China Railway International ทำการศึกษา เส้นทาง แต่กลับไม่สามารถดำเนินการศึกษาเส้นทางได้เป็นที่พอใจผู้ว่าจ้าง โครงการจึงเลิกล้มไปเมื่อปี ค.ศ. 2016
  5. โครงการในประเทศเวเนซูเอลา ระยะทาง 468 กิโลเมตร มูลค่า 7,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งเริ่มสร้างไปได้เล็กน้อย แต่สุดท้ายกลับเลิกไป เพราะเศรษฐกิจเวเนซูเอลาดิ่งเหว เนื่องจากราคาน้ำมันตกต่ำ จนดูท่าจะไม่มีปัญญาใช้หนี้ก้อนโตที่กู้มาจากจีน

 

ส่วนโครงการที่แต่เดิมเคยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่ตอนนี้ได้เริ่มก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว คือโครงการในประเทศลาว (รถไฟความเร็วสูงสุดที่ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) นักวิเคราะห์หลายรายมองว่าโครงการรถไฟลาว ซึ่งสุดท้ายจะเชื่อมจีนเข้ากับไทยผ่านทางลาว จะเป็นประโยชน์กับประเทศต้นทางและปลายทาง (จีนและไทย) มากกว่าประเทศทางผ่านอย่างลาว ขณะเดียวกันกลับจะสร้างภาระหนี้มหาศาลให้แก่ลาว

 

โครงการที่ตอนนี้กำลังประสบปัญหามี 2 โครงการ โครงการแรกคือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมจาร์การ์ตา – บันดุง ของอินโดนีเซีย (ระยะทาง 142 กิโลเมตร มูลค่า 5,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) สร้างโดยอาศัยเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีนวงเงิน 4,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้าง เพราะประสบปัญหาการเวนคืนที่ดิน และค่าก่อสร้างที่ดูเหมือนจะบานเบอะกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียยังยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการต่อ

 

อีกโครงการหนึ่งที่ประสบปัญหาคือ รถไฟเชื่อมบูดาเปสต์ เมืองหลวงของประเทศฮังการี กับเบลเกรด เมืองหลวงของประเทศเซอร์เบีย (ระยะทาง 350 กิโลเมตร มูลค่า 2,890 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) ขณะนี้กำลังถูกสหภาพยุโรปตรวจสอบว่าผิดกฎเกณฑ์ที่กำหนดว่าโครงการขนาดใหญ่ต้องมีการเปิดประมูลหรือไม่

 

ส่วนตัวอย่างของโครงการที่ตอนนี้กำลังรุดหน้าด้วยความเร็วสูง ก็คือโครงการรถไฟกรุงเทพฯ - โคราช (ระยะทาง 250 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นเส้นแรกในไทย ก่อนที่ในอนาคตจะขยายต่อไปที่โคราช - หนองคาย จนเชื่อมต่อกับรถไฟของลาวขึ้นไปจีนในที่สุด

 

ภายหลังจากที่ คสช. ได้ออกมาตรา 44 ปลดเงื่อนอุปสรรคด้านกฎหมายหลายประการ ขณะนี้ที่ประชุมครม. ของไทยได้อนุมัติโครงการเรียบร้อยแล้ว วงเงิน 179,413 ล้านบาท (ราว 5,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) แหล่งเงินกู้ยังไม่ชัดเจน ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี โดยรัฐบาลไทยรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด 100%

 

หากทุกอย่างยังเดินหน้าโดยไม่สะดุด โครงการกรุงเทพฯ ถึงโคราช จะขยับขึ้นเป็นโครงการที่ 6 ของโครงการรถไฟเทคโนโลยีจีนที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างครับ