อนาคตชาวจัณฑาล หลังได้ประธานาธิบดีเลือดผสม

อนาคตชาวจัณฑาล หลังได้ประธานาธิบดีเลือดผสม

คำว่า “ขวายันเงา” อาจใช้ได้กับการเมืองอินเดียเวลานี้ เมื่อคนของพรรครัฐบาลBharatiya Janata Dal (BJP) ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของอินเดีย

ท่าน Ram Nath Govind ผู้นี้ไม่เพียงแต่เป็นสมาชิกขบวนการฮินดูขวาจัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ Rashtriya Swayamsevak Sangh (RSS) แต่เป็นคนวรรณะจัณฑาลเสียด้วย ประการหลังนี่เองที่ทำให้มีการจับจ้องมองถึงโอกาสทางการเมืองของชาวจัณฑาลในอินเดีย ควบคู่ไปกับการมองว่าอินเดียยุคต่อไปจะขวาได้แค่ไหน

 

 “จัณฑาล” (Chandala) เป็นคำที่อธิบายยาก แต่คนไทยตีขลุมใช้กันทั่วไปว่านี่คือคนชั้นต่ำนอกระบบวรรณะของอินเดีย บางตำราว่ายึดตามอาชีพว่าเป็นพวกทำอาชีพสกปรกสุด เช่นเผาผี บางตำราว่าเกิดจากการสมรสข้ามวรรณะ (บางฉบับจำเพาะเจาะจงว่าคำนี้ใช้เรียกเฉพาะลูกหญิงพราหมณ์กับชายสูตร) แต่บางตำราก็ไม่เชื่อว่าคำนี้มาจากการแบ่งแยกเช่นนี้  เพราะที่อินเดียไม่มีใครเรียกคนชั้นต่ำด้วยคำว่าจัณฑาลอีกแล้ว ชาวตะวันตกเหมารวมคนเหล่านี้ว่าเป็นพวก Untouchables ที่แสดงถึงการถูกเดือดฉันท์ขนาดแตะตัวกันไม่ได้ คำนี้เป็นคำที่พวกจัณฑาลเองไม่ชอบ มหาตมะคานธีเรียกอย่างให้เกียรติว่า Harijan หรือคนของพระเจ้า แต่ไม่เป็นที่นิยม ชาวอินเดียเรียกกันเองว่า Dalit ขณะที่ภาษาทางการเรียก Scheduled Caste ซึ่งก็เป็นศัพท์ที่กินความหมายซับซ้อน ในบทความนี้จะเรียกจัณฑาลตามแบบที่คนไทยเข้าใจ

 

ความพยายามให้โอกาสคนชั้นต่ำยิ่งกว่าต่ำนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลอินเดียทุกรัฐบาลทำเรื่อยมา อินเดียเป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็จริง แต่ไม่ได้เน้นทุนนิยมแบบตะวันตก กลับมีแนวทางเศรษฐกิจแบบซ้ายนิด ๆ ด้วยซ้ำจนถึงปี 1990 จึงเปิดกว้าง การช่วยเหลือคนชั้นต่ำเป็นเรื่องจริงจังมาโดยตลอด ถึงขั้นมีระบบโควต้า สัดส่วนในสภา ในการทำงาน ในการศึกษา โครงการจำนวนมากมุ่งไปช่วยเหลือหมู่บ้านยากจนในชนบน ผ่านยังหน่วยการปกครองท้องถิ่นอย่างเช่น Gram Panchayat สามารถดึงคนจนให้ขึ้นมามีรายได้พอเลี้ยงตนเองได้ รัฐบาลอินเดียแบ่งคนชั้นต่ำออกเป็นกลุ่มอย่างกว้างขวาง ระดับเดียวกับจัณฑาลนี้มีหลายวรรณะย่อย หลายแคว้นและหลากกลุ่มศาสนาไม่ใช่แต่ฮินดูอย่างที่เข้าใจ เรียกว่าพวก Scheduled Caste (รัฐบาลอินเดียยังแบกรับคนชั้นต่ำที่เป็นชาวเผ่าเรียกว่า Scheduled Tribes และพวกคนจนที่อยู่ในวรรณะสูงเรียกว่าพ Other Backward Classes)

การที่คนจัณฑาลรู้สึกว่าถูกกดขี่จากคนชั้นสูง ทำให้นักการเมืองจัณฑาลในอดีตต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตนจากพวกวรรณะอื่น หัวหอกสำคัญหลังได้รับเอกราชคือ ดร. Ambedkar บิดาแห่งรัฐธรรมนูญของอินเดีย เขาเป็นคู่กัดกับมหาตมะคานธีที่เชื่อในความเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องให้สิทธิ์ใคร แต่อัมเบดการ์กลับเห็นว่าคานธีเป็นคนโลกลาเวนเดอร์เกินไป เขาเรียกร้องให้จัณฑาลได้สิทธิพิเศษกว่าคนกลุ่มอื่น เพราะหากปราศจากสิทธินี้คนจัณฑาลจะไม่มีวันสู้ชนชั้นอื่นได้ การต่อสู้อย่างต่อเนื่องทำให้จัณฑาลถูกมองว่าออกแนวซ้าย สนใจแต่การเมืองท้องถิ่น ผลประโยชน์เฉพาะชนชั้นตน บางคนแม้แต่กับอัมเบดการ์เองก็ถึงกับเปลี่ยนศาสนาให้ฟ้นการถูกกดขี่ แต่ในความเป็นจริงพวกเขาก็ต้องปฏิสัมพันธ์กับฮินดูที่มองพวกเขาว่ายังไงก็คือคนชั้นต่ำอยู่ดี

 

สถานการณ์มาเปลี่ยนช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง ที่คนจัณฑาลเอียงเข้าไปทางขวาหรือแนวทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้น จากเดิมที่คัดง้างกับระบบวรรณะกลับกลายเป็นพยายามผลักดันตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมฮินดูให้ได้ ความพยายามชิงการเป็นผู้นำในองค์กรเคร่งจารีตอย่าง RSS เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะคนชั้นกลางชาวจัณฑาลมีมากขึ้นและใช้ชีวิตไม่ต่างจากฮินดูทั่วไป คนกลุ่มนี้มีแนวคิดค่อนไปทางทุนนิยมแต่ก็รักชาติ (หรือฮินดู) และคิดจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในประเทศเสียเอง ปรากฏการณ์ Neo-Conservative มีที่นี่ด้วย ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งชนชั้นจัณฑาลวรรณะย่อยกลุ่มเล็ก ๆ ก็มีเยอะ พวกนี้กลับหมดพลังการต่อสู้จึงหลอมรวมเข้ากลุ่มฮินดูแบบว่าไงว่าตามกัน พวกจัณฑาลวรรณะย่อยกลุ่มใหญ่ ๆ นั้นเปลี่ยนศาสนาไปมากแล้ว

 

ความแข็งแกร่งของพรรค BJP ที่เอาชนะพรรคเก่าแก่คองเกรสในแทบทุกมิติเวลานี้ส่งผลให้ผู้สมัครจัณฑาลของ VJP ชนะผู้สมัครจัณฑาลของคองเกรส  Govind เป็นสมาชิก RSS ที่เข้มแข็งและเคยหลุดวาทะเชิงปฏิปักษ์กับคนศาสนาอื่นออกมา พวกฮินดูอนุรักษ์นิยมเป็นเช่นนี้บ่อย ในฐานะประธานาธิบดีที่ไม่มีบทบาทโดดเด่นทางการเมืองเท่านายกรัฐมนตรีนั้น ต่อจากนี้อาจไม่เห็นเขามากเท่าไหร่ในสื่อ 

 

แต่พลังจีณฑาลในสังคมจะมากขึ้นจากการได้รับการยอมรับมากขึ้น และอาจจะเป็นแรงขับมหาศาลให้อินเดียพุ่งทยานไปเร็วกว่านี้ ทั้งนั้น การไม่ทิ้งคนด้อยโอกาสไว้ข้างหลังจะเป็นจริงได้ ก็ด้วยตัวคนด้อยโอกาสนั้นผลักดันตัวเอง พาตนให้เป็นแขนขากำลังหนึ่งของสังคมเพื่อการรุดหน้าด้วย