เถ้าแก่ต่างจาก CEO อย่างไร?

เถ้าแก่ต่างจาก CEO อย่างไร?

“เด็กสมัยนี้อยากเป็นเถ้าแก่ ไม่ค่อยมีใครอยากเป็นลูกจ้าง...” เพื่อนของดิฉันเปรยขึ้นในระหว่างที่พวกเรานัดทานข้าวกันเพื่อพบปะสังสรรค์ประจำรุ่น

 เหตุที่เพื่อนๆพูดกันเช่นนี้เป็นเพราะลูกๆของพวกเธอซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษากันแล้วหลายคนต่างไม่สนใจจะสมัครทำงานกับองค์กร แต่อยากเปิดกิจการของตนเองร่วมกับเพื่อนๆ แม้ว่าบางคนจะไม่ได้จบการศึกษามาทางการบริหารธุรกิจ พวกเขาก็ยังอยากเป็นเจ้าของกิจการของตนเอง เช่น บางคนชอบทำขนม ก็อยากเปิดร้านขายขนมอบร่วมกับเครื่องดื่มต่างๆ บางคนชอบทางแฟชั่น ก็รับสินค้าพวกเสื้อผ้ามาจากแหล่งต่างๆ แล้วมาเติมแต่งประดับประดาด้วยลูกปัด ลูกไม้ ฯลฯ แล้วขายต่อในราคาที่ดีกว่า สามารถหารายได้เป็นกอบเป็นกำตั้งแต่ยังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป

นอกจากจะสังเกตเห็นจากกลุ่มลูกๆของเพื่อนฝูงแล้ว ในฐานะเป็นอาจารย์ประจำที่ศศินทร์ดิฉันก็สังเกตเห็นมาหลายปีแล้วว่านิสิตหลักสูตร MBA ที่อายุอยู่ในช่วงระหว่าง 25-28 ปี สนใจที่จะเป็นเจ้าของกิจการหรือเถ้าแก่กันมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว

ดังนั้นหลักสูตรการเรียน MBA ของศศินทร์จึงได้บรรจุวิชาที่เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจของครอบครัว ธุรกิจเกิดใหม่ (Start-up business) และธุรกิจขนาดย่อมมานานหลายปีแล้ว นิสิตของเราที่จบการศึกษาออกไปและได้ไปทำธุรกิจของตนเองจนประสบความสำเร็จมีอยู่มากมาย ยกตัวอย่าง เช่น คุณชนินทร์ สิริสันต์ เจ้าของ “ชนินทร์ ลิฟวิ่ง” ที่ขายเฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งบ้าน คุณมานะ ธุระกิจเสรี เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ โจ๊กบางกอก คุณบุตรรัตย์ จรูญสมิทธิ์ ผู้บุกเบิกซูปเปอร์มาร์เก็ตไฟแนนซ์ ออนไลน์ เป็นต้น และสำหรับนิสิตรุ่นปัจจุบันที่กำลังศึกษาอยู่ก็มีผู้ที่ทำไอศกรีมโฮมเมดขายปลีกและส่งตามบ้าน มีคนทำแฟชั่นเสื้อผ้าส่งออกไปขายประเทศในยุโรปตะวันออก และมีอีกหลายคนที่มารวมกลุ่มกับเพื่อนๆที่ร่วมชั้นเรียนเดียวกันสมัครเข้าแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจในเวทีต่างประเทศโดยได้รับคำแนะนำจากคณาจารย์ของศศินทร์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ หลายทีมประสบชัยชนะได้รางวัลมากมาย กลับมาเมืองไทยก็เริ่มสานต่อทำธุรกิจที่ทีมนำเสนอแผนงานจนชนะการประกวดมาแล้ว...

จากการสังเกตการณ์ของดิฉันจึงอาจกล่าวได้ว่าเด็กไทยเรามีความริเริ่มสร้างสรรค์แน่นอน และเมื่อมีพื้นฐานความรู้ด้านการจัดการที่ดีผนวกกับได้รับการโค้ชชิ่งจากผู้มีประสบการณ์ พวกเขาจะสามารถสานฝันการเป็นเจ้าของธุรกิจได้ไม่ยากเลย อย่างไรก็ตามยังมีนิสิตอีกเกินครึ่งที่สนใจเป็นนักบริหารมืออาชีพเพื่อสมัครทำงานกับองค์กร ซึ่งหลักสูตรของศศินทร์สามารถเตรียมตัวนิสิตให้พร้อมเป็นทั้งผู้บริหารมืออาชีพหรือเป็นเถ้าแก่ตามแต่ความปรารถนาของนิสิต ประมาณว่าใครอยากเป็นอะไรย่อมเลือกได้ตามที่สบายใจ

ทั้งนี้มีคำถามอยู่คำถามหนึ่งที่มักมีผู้ถามอยู่เสมอๆว่า คนที่เป็นเถ้าแก่กับคนที่เป็น CEO นี้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ คนที่เป็น CEO สามารถเป็นเถ้าแก่ด้วยได้หรือไม่ โดยคำถามนี้สะท้อนถึงทัศนะคติ วิธีคิดและวิธีทำงานของเถ้าแก่และ CEO ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่ คนบางคนสามารถเป็นทั้งเถ้าแก่และ CEO ที่ดีในคนๆเดียวกัน แต่บางคนเป็นได้แบบใดแบบหนึ่ง ตรงนี้เรามาคุยกันก่อนค่ะว่าคนที่เป็นเถ้าแก่กับ CEO มีความแตกต่างกันอย่างไร จากการรวบรวมข้อมูลของหลายสำนักมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่ดิฉันเองเคยทำการสำรวจเป็นการส่วนตัวทำให้จำแนกความแตกต่างของบุคคล 2 กลุ่มนี้ได้ดังนี้ค่ะ

-          เถ้าแก่เป็นนักล่าโอกาสในขณะที่ CEO เป็นผู้รับจ้างทำงานให้บรรลุเป้าหมาย หมายความว่าคนที่เป็นเถ้าแก่หรือคนที่ก่อตั้งธุรกิจด้วยตนเองจะมีความสามารถในการไขว่คว้าล่าโอกาสดีๆในการเปิดธุรกิจการค้า คนแบบนี้จะหูไวตาไวและลงมือทำงานไว กล่าวคือเมื่อเห็นโอกาสเดินทางมาถึง ก็พร้อมจะฉวยนาทีทองนั้นคว้ามันขึ้นมาสร้างงานสร้างเงินในแทบจะทันที จากนั้นพอธุรกิจตั้งตัวได้อยู่ในรูปขององค์กรแล้ว ตอนนั้นแหละที่บริษัทของเขาจะต้องการ “CEO” ที่สามารถบริหารองค์กรที่เพิ่งจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างให้กลายเป็นบริษัทที่มีระบบการทำงานที่ตรงตามเป้าหมายของเถ้าแก่ผู้ก่อตั้งกิจการ เถ้าแก่บางคนเป็นทั้งนักล่าโอกาสที่ดีและสามารถบริหารอย่างมีระบบด้วย แต่บางคนเก่งการค้า มีสัญชาตญาณในการมองหาโอกาส แต่ขาดทักษะในการสร้างระบบการบริหารจัดการ จึงต้องอาศัยมืออาชีพมาทำหน้าที่ CEO คอยบริหารเป็นทัพหลังให้

 

นอกจากประเด็นหลักข้างต้นที่กล่าวไปแล้วนี้ ยังมีประเด็นย่อยอื่นๆที่ทำให้เถ้าแก่ต่างจาก CEO อีก 7  ประเด็นคือ

-          เถ้าแก่เป็นผู้ที่สามารถมองหา มองเห็นและตัดสินใจเลือกบุกตลาดที่มีศักยภาพ

-          เถ้าแก่เป็นผู้ระบุว่าใครคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

-          เถ้าแก่เป็นผู้กำหนดเป้าหมายที่ต้องการบรรลุขององค์กร

-          เถ้าแก่เป็นผู้สร้างทีมทำงาน โดยเฉพาะตอนแรกเริ่ม (ที่ยังไม่มี CEO มาช่วย)

-          เถ้าแก่เข้าใจและมองเกมการแข่งขันของธุรกิจออก

-          เถ้าแก่มีความสามารถในการหาแหล่งทุน

-          เถ้าแก่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

หากท่านอ่านข้อความข้างต้นนี้แล้วบอกกับตัวเองว่า “ใช่ฉันเลย!” แสดงว่าท่านมีความเป็นเถ้าแก่ในตัวสูง ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ

คราวนี้หันมาดูว่า CEO ควรมีข้อเด่นและความสามารถในเรื่องอะไรบ้างจึงจะสามารถบริหารองค์กร (ที่ก่อตั้งโดยเถ้าแก่) ให้ก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

-          CEO เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สะท้อนปณิธานและค่านิยมของเจ้าของบริษัท

-          CEO เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างสรรค์ระบบการทำงานขององค์กรซึ่งได้แก่การวางแผนงานและการปฏิบัติที่มีความบูรณาการกับทิศทางกลยุทธ์ธุรกิจขององค์กร สามารถสร้างระบบงานที่พนักงานทุกระดับของทุกแผนกงานทำงานสอดคล้องสนับสนุนกัน

-          CEO สามารถพัฒนาภาวะผู้นำของทั้งตนเองและผู้บริหารขององค์กร มีความตระหนักถึงพลวัตต่างๆของสิ่งแวดล้อมธุรกิจ อาทิ การแข่งขันของคู่แข่ง การเปลี่ยนแปลงของดัชนีต่างๆ โอกาสต่างๆ ในการขยายธุรกิจ มาตรฐานใหม่ๆของสินค้าหรือบริการที่ตลาดต้องการ เป็นต้น

-          CEO สามารถประเมินผลการทำงานขององค์กรและสรุปหาประเด็นที่ต้องปรับปรุง

-          CEO เข้าใจและสามารถบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรอย่างมีจริยธรรม

 

 จากประเด็นต่างๆที่นำเสนอไปข้างต้น มองคร่าวๆแล้วเหมือนกับความแตกต่างระหว่างผู้จัดการและผู้นำ (Manager Vs Leader) อยู่มากทีเดียว โดยเถ้าแก่เปรียบเสมือนผู้นำ ในขณะที่ CEO เปรียบเสมือนผู้จัดการ ซึ่งไม่ได้แปลว่าใครดีกว่าใคร เพราะในความเป็นจริงแล้ว การที่จะบริหารกิจการธุรกิจ

ทีมงานและองค์กรให้สำเร็จและก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต้องมีคุณสมบัติทั้ง 2 ประการร่วมกันคือเป็นทั้งเถ้าแก่ (ผู้นำ) และ CEO (ผู้จัดการ) ที่ดี ต้องเก่งและมีสัญชาตญาณที่ไวในการแสวงหาคว้าโอกาส จูงใจผู้ลงทุนเก่ง เจาะตลาดเก่ง สร้างสรรค์สินค้าและบริการตัวใหม่มาป้อนตลาดได้เร็ว ในเวลาเดียวกันก็มีความละเอียดรอบคอบ ทำงานเป็นระบบ ดูแลในบ้านและหลังบ้านได้ไม่ขาดตกบกพร่อง

คนโดยทั่วๆไปมักจะไม่สมบูรณ์แบบ เก่งเรื่องหนึ่งแต่ไปพร่องอีกเรื่องหนึ่ง ถือเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ายอมรับข้อบกพร่องของตนเองและพยายามแก้ไขหรือหาคนอื่นที่เก่งในเรื่องที่ตนขาดมาช่วยทำงาน ปัญหาก็จะลดลงไป

แต่มนุษย์เรามักมีอัตตาเชื่อว่าตัวเองเก่งและทำได้หลายอย่าง เราจึงได้เห็นเถ้าแก่หลายคนที่รุ่งเรืองเฉพาะตอนเปิดธุรกิจใหม่ๆแล้วก็ล้มหายไป หรือไม่ก็ได้เห็น CEO มืออาชีพเก่งๆหลายคนออกจากงานมาเปิดกิจการของตนเอง แต่แล้วก็ไปไม่รอด ทั้งนี้ก็เพราะไม่รู้จักตัวเองนั่นเอง