The dollar puzzle

The dollar puzzle

The dollar puzzle

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

..........................

ช่วงหลังนี้ ค่าเงินบาทแข็งเอาแข็งเอา เวลาผมได้รับเชิญไปบรรยายภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเวทีต่างๆ นอกจากกราฟที่แสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคจากสิ้นปี 2559 แล้ว ผมมักจะติดแผนภูมิข้างล่างนี้ไปด้วย จนเรียกได้ว่าเป็นรูปหากินอีกรูปหนึ่งไปแล้ว

แผนภูมินี้มีเส้นสองเส้น “เส้นบาง” แสดงการเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (USD Index) หรือค่าเงินดอลลาร์ เทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลักหกสกุล ส่วน "เส้นหนา เป็นค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยทั้งสองเส้นปักหมุดไว้วันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง (8 พ.ย.2559) ให้มีค่าเท่ากับ 100 ทั้งคู่ วิธีดูแผนภูมินี้ คือ ถ้าเส้นกราฟขยับสูงขึ้นแสดงว่าค่าเงินแข็งขึ้น แต่ถ้าเส้นกราฟลดต่ำลงแสดงว่าค่าเงินอ่อนลง

จากรูปจะเห็นชัดเจนว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับดัชนีค่าเงินดอลลาร์ เกือบจะตลอดช่วงเวลาที่แสดง โดยในช่วงแรกที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งใหม่ๆ ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเร็วเทียบกับตระกร้าเงินอ้างอิง ไปทำจุดสูงสุดประมาณในครึ่งหลังของเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ช่วงนั้น เงินบาทก็อ่อนค่าตามไปด้วย แต่หลังจากนั้น ดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงมาโดยตลอด แม้จะมีขึ้นๆลงๆบ้าง ซึ่งช่วงเดียวกันนี้นี่เอง ที่เงินบาทกลับมาโน้มแข็งค่าขึ้น

โดยสรุป ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเงินหลายๆสกุล เพราะดอลลาร์ไม่ได้อ่อนค่าเทียบกับเราคนเดียว ปรากฏการณ์นี้เป็นไปเกือบทั้งโลก ส่วนใครจะแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์มากหรือน้อย (คนที่อ่อนค่าเทียบกับเงินดอลลาร์ก็มี แต่มีไม่กี่สกุล) ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละประเทศ

ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง คือ ขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ส่วนต่างระหว่างรายรับจากการส่งออกสินค้าและบริการ (อย่างหลังให้นึกถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ) กับรายจ่ายในการนำเข้าสินค้าและบริการ (คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของอันหลัง) 

ถ้าประเทศไหนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ทำมาหาเงินดอลลาร์ได้มาก เวลาเอาดอลลาร์ที่ได้มาขายแลกเป็นสกุลเงินท้องถิ่นก็เป็นตัวกดดันให้เงินสกุลท้องถิ่นแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดน้อย ซึ่งถ้าดูการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินในภูมิภาคเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว ล่าสุดเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 7% (คิดจากค่าเงินบาทที่ 33.4 บาทต่อดอลลาร์) 

สกุลเงินที่แข็งค่าไล่เรี่ยกับเรา ไม่ว่าจะเป็น เงินวอนของเกาหลีใต้ที่ตอนนี้แข็งไปแล้วเกือบ 8% เงินดอลลาร์ไต้หวัน และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ล้วนเป็นสกุลเงินของประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในขนาดสูงมากทั้งสิ้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่สกุลเงินแข็งค่าน้อยกว่าเรา เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล กับเกินดุลน้อยมากตามลำดับ กระนั้นก็ตาม กระทั่งเงินริงกิตของมาเลเซียที่คนชอบหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับเงินบาทก็แข็งค่าจากต้นปีเกือบ 5% แล้ว เรียกได้ว่าไม่ต่างจากเรามากนัก

การที่ค่าเงินบาทแข็งจากเงินดอลลาร์อ่อน หมายความว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งขึ้นเลยเป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้นตอของปัญหาไม่ใช่เรา แต่เป็นเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า 

อย่างไรก็ดี ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา ไม่ได้เพื่อชี้ต้นตอของการแข็งค่าของเงินบาท แต่สืบเนื่องจากว่า ถ้าพิจารณาแผนภูมินี้โดยละเอียด จะเห็นว่าดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันอ่อนกว่าวันที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งพอสมควร (ถ้าคิดเทียบกับวันที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์แข็งสุดเมื่อเดือนธ.ค. ดอลลาร์ได้อ่อนค่ามาเกือบ 10% แล้ว) ซึ่งตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้ว ไม่ควรจะเห็นแบบนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมมีการฟื้นตัวที่ต้องบอกว่าชัดเจนที่สุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมหลัก อัตราการว่างงานก็ต่ำกว่าระดับที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นระดับการจ้างงานเต็มที่ (Full employment) 

นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐก็มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาระยะหนึ่งแล้ว ต่อให้ในระยะต่อไป ธนาคารกลางสหรัฐไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อแล้ว (ผู้เล่นในตลาดเงินตลาดทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในปีนี้ และอีกสามครั้งในปีหน้า) ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐกับหลายๆประเทศ ควรทำให้ดอลลาร์มีความน่าสนใจโดยเปรียบเทียบมากขึ้นกว่าวันที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง

จริงอยู่ ตอนนี้เทียบกับตอนที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งใหม่ๆ ตลาดดูเหมือนจะถอดใจกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ไปแล้ว ประกอบกับช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ค่าเงินดอลลาร์เลยอ่อนเร็ว แต่ต่อให้ทรัมป์ทำอะไรใหม่ๆไม่ได้เลย อย่างมากเศรษฐกิจสหรัฐก็กลับไปเทรนด์เดิม ซึ่งคือการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่มั่นคง การที่ดอลลาร์อ่อนค่ากว่าเมื่อวันที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งพอสมควรจึงเป็น Puzzle สำหรับผม

ส่วนตัวแล้ว ผมยังเชื่อมั่นในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ว่า การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์น่าจะเป็นเรื่องชั่วคราว โดยในที่สุดแล้ว ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐไม่เกิดอุบัติเหตุสะดุดติดขัด และธนาคารกลางสหรัฐยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐควรจะกลับมาแข็งกว่าวันที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งไม่มากก็น้อย

ปัญหา คือ แม้สุดท้ายเงินดอลลาร์จะสามารถกลับทิศได้ตามที่ผมคาด แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และแถมก่อนที่จะกลับทิศ ตลาดเงินตราต่างประเทศก็เหมือนกับตลาดหุ้น ดอลลาร์ก็อาจจะอ่อนลงไปได้มากกว่านี้อีก ดูไปแล้ว ปีนี้ ดอลลาร์น่าจะผันผวนทั้งปี

สำหรับผู้ประกอบการ ไม่ว่าเป็นผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้า วิธีรับมือกับความผันผวนในตลาดเงินตราต่างประเทศที่ดีที่สุด คือ การทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมา งานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ผู้ส่งออกไทยทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนน้อยกว่าที่ควร และมักจะแห่มาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในช่วงที่เงินบาทแข็งเร็ว ซึ่งยิ่งกดดันให้บาทแข็งมากขึ้นไปอีก

การคาดการณ์ทิศทางในระยะสั้นของเงินสกุลหลักอย่างเงินดอลลาร์เป็นสิ่งที่ยากมาก อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ เคยกล่าวเตือนใจไว้ว่า ตลอดชีวิตการทำงานของเขา เขาไม่เคยเห็นแบบจำลองประมาณการอัตราแลกเปลี่ยนใดๆ ที่มีความแม่นยำมากกว่าการโยนเหรียญเสี่ยงทายหัวก้อยเลย