ส่องเทรนด์ “SE” ทั่วโลก โจทย์ใหญ่สมดุล “ธุรกิจ-สังคม”

ส่องเทรนด์ “SE” ทั่วโลก โจทย์ใหญ่สมดุล “ธุรกิจ-สังคม”

แม้ปัจจุบันธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social enterprise(SE) จะมีประวัติที่ไม่ยาวนานเหมือนธุรกิจวงการอื่นนัก

แต่ก็นับเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตเร็วและเป็นที่น่าจับตาอย่างมาก ตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจเพื่อสังคมหลายรายจากทั่วโลกกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนอยากก้าวเข้ามาสัมผัส “ธุรกิจเพื่อสังคม” ดูบ้าง

อย่างไรก็ตาม หนทางสู่กิจการเพื่อสังคมหรือ SE นับว่ามีความท้าทายที่ไม่เหมือนกับธุรกิจอื่น ในการที่จะต้องสร้างธุรกิจให้เติบโต และยังต้องพัฒนาสังคมไปพร้อมกัน

อาร์คาเดีย เลิฟ จากเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมในสิงคโปร์ที่มีชื่อว่า Buy1Give1 กล่าวว่า กิจการเพื่อสังคมคือธุรกิจที่หาเงินเพื่อนำไปแก้ปัญหาสังคมต่างๆ เช่นทำให้ชุมชนดีขึ้น ทำให้มีคนตกงานน้อยลง หรือช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมฯลฯ โดยมีการใช้กลยุทธ์ทางการค้าเข้ามาช่วย และนำผลกำไรที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาสังคมหรือการกุศลต่างๆ

“หากลองนึกภาพความต่างระหว่างธุรกิจและหน่วยงานการกุศลที่อยู่กันคนละด้าน กิจการเพื่อสังคมจะอยู่แถวๆ ตรงกลาง โดยสิ่งที่เป็นความแตกต่างคือหน่วยงานการกุศลนั้นมักต้องอิงกับเงินบริจาคหรือการสนับสนุนจากภาครัฐ ขณะที่กิจการ SE ส่วนใหญ่จะพึ่งพารายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการเป็นหลัก”

เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศแคนาดารายงานสถิติที่น่าสนใจของกิจการเพื่อสังคมว่ามี SE ถึง 57% ที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี โดย 81% ระบุว่าตนเองเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคม,เพื่อวัฒนธรรม 45%, เพื่อการพัฒนาการจ้างงาน26% และเพื่อสิ่งแวดล้อมอีก 27% ส่วนในยุโรปนั้น ทุก 1 ใน 4 ของกิจการ Start-up หรือธุรกิจที่ก่อตั้งใหม่จะเป็นกิจการเพื่อสังคม ขณะที่ในออสเตรเลีย มีการคาดการณ์ว่ามีกิจการเพื่อสังคมประมาณ 20,000 กิจการและคิดเป็นสัดส่วนถึง 2-3% ของ GDP

นอกจากนี้ หลักสูตรด้านผู้ประกอบการสังคม หรือ Social Entrepreneurship ยังมีการสอนอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก โดยในสหรัฐอเมริกา 22% ของกิจการเพื่อสังคมสร้างรายได้มากกว่า 2ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในประเทศอังกฤษมีรายงานว่ากิจการเพื่อสังคมส่วนใหญ่มักก่อตั้งโดยผู้หญิงหรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ ส่วนในประเทศเวียดนาม 68% ของกิจการเพื่อสังคมนั้นมุ่งไปที่การแก้ปัญหาความยากจน และอีก 48% เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เช่นเดียวกับธุรกิจทั่วๆ ไป ธุรกิจเพื่อสังคมต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้ธุรกิจเติบโต ตลอดจนการบริหารเงิน คน การทำการตลาด โดยความท้าทายสำคัญที่สุดที่ต้องเผชิญคือการบริหารจัดการและวัดผลกระทบต่อสังคม (Social impact) ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นั่นก็เพราะว่าสิ่งที่เป็นพื้นฐานของกิจการเพื่อสังคม นอกเหนือไปจากธุรกิจแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ “คุณค่าทางสังคม” (Social value) ที่กิจการนั้นๆ สร้างขึ้น และการเติบโตของกิจการเพื่อสังคมนั้นควรวัดจากมุมของผู้ที่ได้รับประโยชน์มากกว่าตัวเลขรายได้ทางการเงินขององค์กรนั้นๆ

“มันคือการหาจุดสมดุลระหว่างการสร้างคุณค่าทางสังคมและการสร้างผลกำไร ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมอาจไม่ต้องตอบคำถามผู้ถือหุ้นหรือคณะกรรมการบริษัท แต่ก็กิจการเพื่อสังคมก็มีกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องการเห็นความรับผิดชอบ เห็นว่าเงินที่พวกเขาสนับสนุนสินค้าหรือบริการนั้นไปถูกนำไปใช้อย่างไร และเกิดผลกระทบอะไรต่อสังคมบ้าง”

กระแสความนิยมของกิจการเพื่อสังคมทั่วโลกนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะหลายคนมีความมุ่งมั่นและต้องการเห็นโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่กลับรู้สึก “สิ้นหวัง” จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ พวกเขาจึงมองหาระบบที่มีความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย อีกทั้งยังสนุกและท้าทายจากการใช้ทักษะความสามารถทางด้านธุรกิจของตน เพื่อทำประโยชน์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมอีกด้วย

จึงอาจสรุปได้ว่าผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมยุคใหม่นั้นเข้าใจว่าผลกำไรนั้นอาจไม่ได้อยู่ในรูปตัวเงินเสมอไป แต่อาจอยู่ในรูปของการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมทั่วโลกจะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคที่มีความเอาใจใส่และมองหาสิ่งที่นอกเหนือไปจากป้ายราคา หรือโฆษณา หากแต่มองเข้าไปถึงจริยธรรม ความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อสังคม นั่นเองค่ะ