Mindmani อัญมณีแห่ง ความทรงจำที่ไม่มีวันลืม

Mindmani อัญมณีแห่ง ความทรงจำที่ไม่มีวันลืม

หากจะพูดถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องของความตาย ก็คงหนีไม่พ้นธุรกิจประเภท โลงศพพวงหรีดของที่ระลึกในงานศพ เป็นต้น

แต่ใครจะนึกถึงว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับ อัญมณีเครื่องประดับ จะสามารถนำมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจเรื่องของความตายได้ 

ในสมัยก่อนหากต้องการเก็บสิ่งของที่เป็นตัวแทนของคนที่เรารักจากไปก็คงจะเป็น ของใช้ส่วนตัวหรือ เถ้าอัฐิ เป็นต้น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รูปแบบของสิ่งของที่จะสามารถเป็นตัวแทนของคนที่เรารักจากไปก็มีหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อัฐิภาพ แหวนอัฐิมณี จี้อัฐิมณี ลองคิดดูว่าจะดีสักแค่ไหนถ้าของที่ระลึกเป็นตัวแทนของคนที่จากไปจะกลายมาเป็นอัญมณีที่สามารถใส่พกพาไปได้สะดวกและมีความสวยงาม

จุดเริ่มต้นของ “อัฐิมณี” มีต้นกำเนิดมาจาก ดร.กุลจิรา สุจิโรจน์ ที่จบปริญญาเอกด้านวัสดุศาสตร์ ในฐานะนักเรียนทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเคยทำงานเป็นนักวิจัยวัสดุศาสตร์ประจำศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ที่อยู่ในแวดวงนี้ จึงมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาวัสดุในรูปแบบต่างๆ อย่างมากจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ ดร.กุลจิรา สร้างสรรค์นวัตกรรมอัฐิมณีเกิดขึ้นหลังสูญเสียคุณพ่อ ทำให้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อจะได้ใช้เวลาดูแลคุณแม่อย่างเต็มที่ พร้อมกับใช้ความรู้ทั้งหมดคิดทำธุรกิจส่วนตัวควบคู่ โดยสร้างนวัตกรรมดังกล่าว เปิดเป็น “บริษัท ไมนด์มณี จำกัด

กว่าจะมาเป็นอัฐิมณีที่ทุกคนได้เห็น แท้ที่จริงแล้วขั้นตอนกระบวนการทำอัฐิมณี ต้องใช้ระยะเวลาการทำหลังได้รับออเดอร์ประมาณ 2-4 สัปดาห์ สามารถใช้อัฐิจากชิ้นส่วนใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกหรือฟัน ที่ต้องใช้เวลานานเป็นเพราะกระดูกของแต่ละคนไม่เหมือนกันความเปราะบางมวลหนามวลบาง โดยส่วนประกอบหลักของกระดูกคนเรา ก็คือ แคลเซียมฟอสเฟต ที่เป็นสีขาว ส่วนที่เป็นสีดำจะเป็นคาร์บอนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งในกระบวนการทำอัฐิมณีจะใช้ความดันในอุณหภูมิที่สูงจึงทำให้คาร์บอนที่อยู่ในกระดูกระเหยกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป 

จากกระบวนการที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความละเอียดประณีตในการทำต้องปรับเนื้อมวลกระดูกให้มีความเนียนละเอียด แล้วค่อยใช้อุณหภูมิความดันขึ้นรูปให้มีรูปแบบตามที่เราต้องการ สุดท้ายใช้อุณหภูมิความร้อนผนึกอัฐิให้เข้าหากันวิธีการนี้จะทำให้รูพรุนที่อยู่กับกระดูกจางหายไป เพื่อให้ผลงานออกมาสวยงามแข็งแรงทนทานอย่างเป็นที่น่าพึงพอใจ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจอัฐิมณี คือ กลุ่มคนที่ต้องการของที่ระลึกจากการสูญเสียคนที่รักไป เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง เพราะราคาอัฐิมณีเริ่มต้นระดับราคาที่หลักหมื่นขึ้นไป เนื่องจากสินค้ามีราคาสูงในด้านของบริการหลังการขาย หากลูกค้าที่ซื้อไปทำอัฐิมณีแตกเสียหายต้องนำกลับมาซ่อมทางร้านก็จะมีบริการซ่อมให้แต่จะคิดในราคา 50% ของราคาสินค้าที่ลูกค้าซื้อไป เนื่องจากจะต้องนำมาเข้าสู่ขั้นตอนของการทำใหม่ตั้งแต่เริ่มต้นในเรื่องความโดดเด่นของธุรกิจอัฐิมณีเป็นธุรกิจที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนใคร สามารถถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวสินค้าจากผู้ที่ล่วงลับไปแล้วให้ยังคงอยู่กับเจ้าของอัฐิมณีอยู่ตลอดเวลา เป็นสินค้าที่มีคุณค่าต่อจิตใจของผู้ที่สั่งทำ และต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำที่พิเศษลอกเลียนแบบได้ยาก เพราะใช้อัฐิ 100% ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่อัฐิมณีนำมาใช้เพื่อสร้างความโดดเด่นและความได้เปรียบทางการแข่งขัน ส่งผลให้เกิดกำไรต่อธุรกิจอย่างยั่งยืน 

ในส่วนของแผนการประชาสัมพันธ์สื่อสารแบรนด์อัฐิมณีให้ผู้บริโภคได้รับรู้ปัจจุบันที่ทางบริษัททำอยู่คือ การออกงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอัญมณี การโฆษณาผ่าน Facebook (Mindmani) และเว็บไซต์ Mindmani ถือเป็นช่องทางในการสั่งซื้อสินค้าและติดต่อกับลูกค้า ทั้งนี้ในเว็บไซต์ยังอธิบายถึงข้อมูลให้ผู้บริโภคที่กลัวเรื่องการทำอัฐิมณีว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดเพราะอัฐิจะถูกนำมาปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นอัญมณีที่สวยงามเปรียบเสมือนเครื่องประดับชิ้นหนึ่ง

แผนในอนาคตที่จะต่อยอดกับธุรกิจอัฐิมณี คือ ทำการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มครอบครัว และการหาผู้ร่วมลงทุนที่สนใจในการทำธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับเรื่องของความตายแบบครบวงจร เพื่อระดมทุนในการซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัย นำมาสร้างสรรค์ผลงานที่มีดีไซน์สวยโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

กรณีศึกษาสะท้อนถึงการสร้างธุรกิจโดยนำนวัตกรรมเข้ามาสร้างคุณค่าทำให้ธุรกิจอยู่ในรูปแบบของ Blue Ocean Strategy นอกจากนั้นจากความต้องการของคนที่ปัจจุบันอยู่ในรูปแบบของ Micro segmentation การทำอัฐิมณีที่ต้อง Customized ตามแต่ละคน ไม่ว่าจะด้วยการดีไซน์ออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์แก่ลูกค้าที่สวมใส่เอง ขั้นตอนกระบวนการทำที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดขั้นตอนของผลงานต้องการให้ชิ้นงานออกมาดีที่สุด ด้วยความแตกต่างในด้านของตลาดที่ใหม่ และ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ทำให้อัฐิมณีกลายเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

 --------------------------------

เครดิตกรณีศึกษาและการสัมภาษณ์ ดร.กุลจิรา สุจิโรจน์ โดยคุณ นวนารถ ลีลานราภรณ์ นักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล