ตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนมิ.ย.

ตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนมิ.ย.

ตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนมิ.ย.

ในเดือนมิ.ย. มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของหลายประเทศสำคัญ ช่วงต้นเดือน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0%, คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ -0.4%, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 0.25% และคงวงเงินในการซื้อพันธบัตร (QE)ที่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงเดือนธ.ค. ปีนี้ นอกจากนี้ได้ปรับการคาดการณ์การเติบโต GDP ของกลุ่มยูโรโซนเป็น 1.9% ในปีนี้และ 1.8% ในปีหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงสู่ระดับ 1.5% ในปีนี้และ 1.3% ในปีหน้า จากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 1.7% และ 1.6% ตามลำดับ การปรับลดดังกล่าวสอดคล้องกับการขยายเวลาในการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและการชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ECB 

ต่อมาช่วงกลางเดือน คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 0.75-1.00% สู่ระดับ 1.00-1.25% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ โดยมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโต 2.2% ในปีนี้ ซึ่งดีขึ้นจาก 2.1% ในการประเมินครั้งก่อน, การว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำที่4.3% และปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเป็น 1.6% จาก 1.9% นอกจากนี้ FOMCยังให้รายละเอียดในเรื่องการลดขนาดงบดุล โดยจะเริ่มลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและ Mortgage-backed Securities (MBS) ทันทีที่ดอกเบี้ยเข้าสู่ทิศทางที่เหมาะสม นอกจากนี้ธนาคารกลางประเทศสำคัญอื่น ๆ ต่างคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ธนาคารกลางของอังกฤษ (BOE) มีมติด้วยคะแนนเสียง 5-3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% โดยมีกรรมการ 3 ท่านสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่กรรมการส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอังกฤษและสหภาพยุโรปใกล้จะมีการเจรจาประเด็น Brexit และธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) ที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ -0.1%

ในเดือนนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับลดลงมาสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี โดยปรับลดไปประมาณ 20% ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่า แนวโน้มเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลง อาจทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทบทวนจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐ เช่น 10-Year US Treasury ในเดือนนี้จึงลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดที่ 2.14% ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ธ.ค.ปีที่แล้ว ที่ประมาณ 2.50% แม้ว่าเฟดจะเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนประธานธนาคารกลางยุโรปได้ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน โดยระบุว่า ECB ควรปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและนโยบายซื้อพันธบัตร เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น และผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษได้กล่าวถึงความจำเป็นที่อังกฤษจะยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงินอีกด้วย ทำให้ค่าเงินสกุลยูโรและสกุลปอนด์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ตลอดจนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐและยุโรปกลับมาปรับตัวขึ้น

ความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ได้รับอิทธิพลจากตลาดต่างประเทศเป็นหลัก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาว ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลดลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเกิดจากการจำกัดปริมาณการเสนอขายพันธบัตรระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน รุ่นอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือน ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 1.25%, 1.33% และ 1.44% ตามลำดับ ลดลงจากสิ้นเดือนพ.ค. ที่ 1.29%, 1.41% และ 1.47% ตามลำดับส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 3 ปีขึ้นไปลดลง 0.03-0.19% 

ทางด้านนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 15.8 พันล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 25.7 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 41.5 พันล้านบาท โดยสรุป ยอดการถือครองพันธบัตรจากนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนมีประมาณ723พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 ที่ 634 พันล้านบาท และนับตั้งแต่ต้นปีเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงทุกระยะ 0.03-0.24%