ว่าด้วยเรื่อง พรก. การบริหารจัดารการทำงานของคนต่างด้าว

ว่าด้วยเรื่อง พรก. การบริหารจัดารการทำงานของคนต่างด้าว

ทันทีที่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (พรก.ต่างด้าวฯ) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา

ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ภาคธุรกิจเอกชนหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา จนกระทั่งท่านนายกรัฐมนตรีฯ ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เพื่อกำหนดมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตาม พรก.ต่างด้าวฯ ดังกล่าวในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านการใช้บังคับกฎหมาย ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ช่วยลดความร้อนแรงของประเด็นการบังคับใช้ พรก.ต่างด้าวฯ ไปได้ระยะหนึ่ง วันนี้ผู้เขียนขอนำประเด็นสำคัญ เหตุผลและหลักการของ พรก. ต่างด้าวฯ ฉบับนี้มาให้ผู้อ่านได้รับทราบเพิ่มเติมค่ะ

 

พรก. ต่างด้าวฯ ได้ถูกยกร่างขึ้นจากการนำหลักการกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ (2) พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 มารวมไว้ในฉบับเดียวกัน 

 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงบทบัญญัติที่ยังไม่สมบูรณ์ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันของประเทศเรา ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการที่รัฐบาลเร่งรัดการออกกฎหมายฉบับนี้โดยการตราเป็นพระราชกำหนดแทนการออกเป็นพระราชบัญญัติตามกระบวนการออกฎหมายแบบปกติเพื่อต้องการเลี่ยงความเสี่ยงต่อการปฏิบัติผิดมาตรฐานสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศรวมถึงประเด็นการค้ามนุษย์ซึ่งประเทศไทยถูกจับตามองจากประเทศสหรัฐอเมริกาโดยถูกจัดอยู่ในบัญชีกลุ่ม 2 (บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง – Tier 2 Watch List) รวมถึงจากสหภาพยุโรปที่ได้ประกาศแจ้งเตือนหรือให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยโดยจัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (Possibility of Identifying as non-cooperating Country) ในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) หรือที่เรารู้จักกันว่า IUU Fishing นั่นเอง

 

พรก. ต่างด้าวฯ จึงถูกร่างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การบังคับของพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559) และการแก้ไขปัญหาการจัดระเบียบการทำงานของคนต่างด้าวโดยกำหนดให้คนต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง (ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551) โดยสามารถสรุปประเด็นที่สำคัญที่ได้มีการกำหนดไว้ใน พรก. ต่างด้าวฯ ได้ดังนี้

 

  1. การกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของนายจ้างและผู้ได้รับใบอนุญาตนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
  2. การสร้างช่องทางการร้องทุกข์และการเข้าถึงช่องทางการร้องทุกข์สำหรับคนต่างด้าว
  3. การกำหนดมาตรฐานในการเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน
  4. การขึ้นทะเบียนตัวแทนนายจ้างและตัวแทนคนต่างด้าว
  5. การจัดตั้งกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
  6. การกำหนดมาตรการทางปกครองให้มีการประกาศรายชื่อนายจ้างที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
  7. การกำหนดโทษสำหรับบุคคลที่ยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าว
  8. การกำหนดอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการจ้างคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานและความผิดอื่นๆ ให้สูงขึ้น

 

การออก พรก. ต่างด้าว จึงถือเป็นความพยายามของรัฐบาลเพื่อแสดงให้นานาประเทศได้เห็นว่ารัฐบาลได้มีความพยายามปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งมีแนวโน้มนำไปสู่การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานด้านแรงงานของคนต่างด้าว

 

ในคราวหน้าผู้เขียนจะนำรายละเอียดประเด็นสำคัญๆ ที่บัญญัติใน พรก. ต่างด้าวฯ นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการเพิ่มอัตราโทษที่สูงขึ้นที่เป็นที่วิพากษ์กันมาตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มาศึกษาและแบ่งปันกันต่อไปค่ะ

** บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่