ความเสี่ยงสูงสุด

ความเสี่ยงสูงสุด

หากให้ลองลำดับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปีหน้าผู้เขียนมองว่าความเสี่ยงที่สำคัญในสุดระยะต่อไปอาจไม่ใช่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี หรือความตึงเครียดในตะวันออกกลาง แต่จะเป็นการที่ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกประกาศพร้อมชะลอหรือยุติการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย

 

โดยในสหรัฐ ธนาคารกลาง (Fed) ได้ส่งสัญญาณต่อเนื่องที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวมไปถึงการลดทอนขนาดของงบดุล โดยลดการต่ออายุพันธบัตรและตราสารหนี้ที่ผูกติดกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (MBS) ที่เคยถือไว้ลง ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือการค่อย ๆ ดูดสภาพคล่องที่เคยปล่อยสู่ระบบผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงอย่างช้า ๆ

 

ขณะที่ในยุโรป ประธานธนาคารกลาง (ECB) เริ่มส่งสัญญาณที่พร้อมลดทอนการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE ลง ส่วนในอังกฤษก็เริ่มส่งสัญญาณอาจขึ้นดอกเบี้ยหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นถึงระดับ 3% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ส่วนในจีนก็มีการตั้ง Super Board ด้านการเงินเพื่อกำกับควบคุมการกู้ยืมเป็นองค์รวม หลังความเสี่ยงด้านหนี้เสียที่เริ่มมีมากขึ้นทำให้จีนต้องแอบขึ้นดอกเบี้ยในตลาดการเงินมาแล้ว 2 ครั้ง

 

ผู้เขียนมองว่ามาตรการเหล่านี้ แม้จะทำต่างกรรมต่างวาระ และเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกัน แต่มีความเป็นไปได้สูงที่การคุมเข้มนโยบายการเงินเหล่านี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจรวมถึงการลงทุนโลกให้ตกต่ำ โดยผู้เขียนมีเหตุผล 6 ประการ ดังนี้

 

หนึ่ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยแม้ว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงหลังจะเห็นสัญญาณฟื้นตัว แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นการฟื้นตัวเชิงวัฐจักร (หรือชั่วคราว) โดยหากพิจารณาจากต้นปี จะเห็นว่าการค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากวัฐจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขาขึ้น โดยเฉพาะจากความต้องการอุปกรณ์ Smart Phone, Tablet และคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความต้องการที่จะแทนที่เครื่องเก่าที่หมดอายุลง และส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

 

ขณะที่ในเชิงโครงสร้างแล้ว เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงสูงมาก โดยเฉพาะระดับหนี้ทั่วโลกที่สูง ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นหนี้ภาครัฐ และประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เป็นหนี้ภาคเอกชนและครัวเรือน ซึ่งปัญหาจะรุนแรงขึ้นหากดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นเพราะจะทำให้ต้นทุนทางการเงินที่ต้องจ่ายมีสูงขึ้น

 

สอง ประเด็นเงินเฟ้อ ผู้เขียนมองว่าการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นปัญหาจากฝั่งอุปทานหรือภาคการผลิต โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันดิบและโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีมากขึ้นตามเทคโนโลยีที่ดีขึ้น (เช่น เทคโนโลยีการขุดเจาะ Shale Gas/Oil ในสหรัฐ) แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากความต้องการหรืออุปสงค์ที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะจิตวิทยาที่ประชาชนรู้สึกว่า จมอยู่กับเงินฝืด”(Deflationary Mindset) ทำให้ผู้ผลิตสินค้าไม่กล้าที่จะขึ้นราคา รวมถึงทำโปรโมชั่นต่าง ๆ ที่ทำให้ราคาสินค้าไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศเจริญแล้ว แต่ก็เป็นในประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งนโยบายการเงินที่ตึงตัวจะยิ่งกดให้เงินเฟ้อต่ำลง และผู้คนไม่อยากจับจ่ายยิ่งขึ้น

 

สาม ปัจจัยด้านตลาดการเงิน กล่าวคือการทำ QE ของธนาคารกลางต่าง ๆ ในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมาเป็นการกดผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (เช่น 10 ปี) ให้ลดลง ดังนั้น การที่ Fed พร้อมจะลดทอนงบดุล รวมถึงการที่ECB และธนาคารกลางอื่น ๆ จะทำการลดทอน QE (QE Tapering) ซึ่งน่าจะเริ่มทำในปีหน้านั้น อาจทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชน ที่อ้างอิงจากผลตอบแทนพันธบัตรยิ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น และทำให้ภาคเอกชนเสี่ยงต่อการขาดทุน/ ล้มละลายได้

 

สี่ ผลกระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยแม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่จะดูดีขึ้นในระยะหลัง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการส่งออกที่ดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง รวมถึงการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของประเทศเหล่านี้ที่ยังสูง (โดยเฉพาะการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตจะทำให้ตลาดเกิดใหม่เสี่ยงต่อวิกฤตมากขึ้น ทั้งวิกฤตสถาบันการเงินและวิกฤตค่าเงิน

 

ห้า การใช้นโยบายการคลังขยายตัวทดแทนนโยบายการเงิน ที่ผ่านมามีการคาดการณ์ว่า นโยบายการเงินที่เริ่มตึงตัวขึ้น จะถูกทดแทนด้วยนโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย เช่น การลดภาษี การสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาหลักฐานในปัจจุบันจะเห็นว่าประเด็นเหล่านี้เป็นไปได้ยากขึ้นในเชิงการเมือง เช่น ในสหรัฐที่ทรัมพ์ต้องเผชิญกับการสอบสวนของโรเบิร์ต มูลเลอร์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย รวมถึงการที่รัฐสภาไม่ยอมผ่านร่างนโยบายประกันสุขภาพของรีพับพริกกันที่จะทดแทนแผนของโอบามา (Obamacare) ก็เป็นส่วนฉุดรั้งเช่นกัน ส่วนในประเทศขนาดใหญ่อื่น ๆ ก็เผชิญกับอุปสรรคสำคัญ ทั้งการปฏิรูปตลาดแรงงานในฝรั่งเศสที่ทำได้ยาก ประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้นำญี่ปุ่น การเจรจา Brexit ที่มีข้อจำกัดด้านเงื่อนเวลา ทำให้ความหวังของนโยบายการคลังริบหรี่เช่นกัน

 

หก ได้แก่ ความผันผวนทางการเงินที่จะมีมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางต่าง ๆ ทำให้สภาพคล่องโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการกดให้ความผันผวนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ การถอนสภาพคล่องก็น่าจะทำให้ความผันผวนมีมากขึ้นในระยะต่อไปเช่นกัน

 

เมื่อความเสี่ยงมีรอบด้านเช่นนี้ ผู้เขียนจึงขอคาดการณ์ผลของนโยบายการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ 

 

กรณีแรก การลดทอนดำเนินอย่างช้า ๆ และค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ตลาดรวมถึงเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินไปได้ต่อเนื่อง

 

กรณีที่สอง ธนาคารกลางเริ่มลดทอนนโยบายการเงินในช่วงปลายปีนี้ แต่เศรษฐกิจในต้นปีหน้าเริ่มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินเฟ้อตก การค้าโลกหดตัว ทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ต้องยุติการถอนขันเร่งและต้องเริ่มอัดฉีดใหม่อีกครั้ง

 

กรณีที่สาม การถอนนโยบายการเงินเริ่มต้นประมาณ 1 ปี ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ ทำให้ต้นทุนทางการเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น และนำไปสู่วิกฤตในประเทศตลาดเกิดใหม่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

 

เหตุการณ์จะเป็นเช่นไรนั้น หามีผู้ใดทราบคำตอบไม่ แต่ที่แน่คือความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

** บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่