มาเป็น Startup ในงานเกษตรกรรมกัน

มาเป็น Startup ในงานเกษตรกรรมกัน

อนาคตเศรษฐกิจไทยจะต้องขึ้นอยู่กับการจัดการของบริษัทใหญ่ในระดับอุตสาหกรรมเท่านั้นหรือ?

เป็นที่น่ากังวลใจที่นับวันคนรุ่นใหม่จะอยากกลับไปทำอาชีพดั้งเดิมของที่บ้าน เช่น งานเกษตรกรรม น้อยลง ขณะที่ประเทศไทยเราพึ่งพิงการส่งออกสินค้าเกษตรอยู่มาก ขณะที่หากมามองกันที่ความต้องการของคนรุ่นใหม่จะพบความสนใจที่เปลี่ยนไป บ้างก็ว่าไม่อยากเหนื่อยยากลงแรงในแปลงนา และที่สำคัญทำงานหนักแล้วก็ยังจะต้องเป็นหนี้กันต่อไป เช่นนี้แล้วจะมีหนทางตอบโจทย์ความท้าทายที่มีมานานนี้ได้ไหม และ Startup จะมีบทบาทอย่างไรได้บ้าง

วันนี้ขอชวนทุกคนมาลองมองโอกาสธุรกิจ Startup ในหมวดเกษตรกรรมดู โดยวิธีการง่ายที่สุดคือลองวิเคราะห์ไล่ตาม Value Chain เพื่อดูว่ามีช่องว่างเพื่อเติมเต็ม สร้างมูลค่าเพิ่ม หรือแม้แต่เกิดโมเดลการทำธุรกิจชนิดใหม่อย่างไรได้บ้าง 

เริ่มกันตั้งแต่ต้นน้ำที่เกษตรกร ด้วยนโยบายสนับสนุนของประเทศในยุค 4.0 ก่อให้เกิดแนวคิดการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสร้างผลิตภาพการทำการเกษตรให้มากขึ้น รวมถึงการนำงานวิจัยและพัฒนามาช่วยให้เกิดผลผลิตใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น CB Insights ได้รวบรวมและแยกหมวดหมู่กลุ่ม Startup เหล่านี้ไว้ 9 ประเภทด้วยกัน แต่เพื่อไม่ซับซ้อนเกินจะขอสรุปรวบให้ง่ายขึ้นเป็น 3 กลุ่มดังนี้ค่ะ

1. กลุ่ม Farm Management System เป็น Startup ที่พัฒนาซอฟแวร์มาช่วยสร้างระบบการบริหารจัดการทั้งทรัพยากรที่ใช้และลงทุนไป เทียบกับปริมาณผลผลิต โดยมีองค์ความรู้มาสนับสนุนให้เกิดการบริหารที่ได้ตามเป้าการผลิต นอกจากนั้นยังทำให้ต้นทุนต่ำลงหรือต้นทุนเท่าเดิมแต่ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้ ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นจุดปวดใจของเกษตรกรมาแต่อดีต ดังที่หลายคนชอบบอกว่าเกษตรกรเรายิ่งทำมากขึ้นกลับยิ่งจนลงเพราะการขาดทักษะในการบริหารนั่นเอง

ในยุคปัจจุบันการบริหารที่ดียังควรมีฐานจากข้อมูลที่แม่นยำด้วยจึงเกิดเป็น Startup ที่มุ่งการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้ เช่นที่เรียก Precision Agriculture and Predictive Data Analytics โดยการทำงานมีการนำข้อมูลอดีตและปัจจุบันมาช่วยพยากรณ์อนาคต เช่น ประเมิน อุปสงค์ อุปทานในตลาด ทำให้ตัดสินใจลงทุนได้สอดรับกัน ช่วยแก้ปัญหาการผลิตออกมามากเกินจนต้องมาลดราคาขาย ในทำนองเดียวกันยังอาจนำข้อมูลมาช่วยทำความเข้าใจเรื่องปศุสัตว์ ตั้งแต่การเพาะพันธุ์สัตว์ไปจนถึงการประเมินผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมต่างๆ เรียกว่าแทนที่ต้องรอลุ้นตามธรรมชาติที่ไม่แน่นอน ก็สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น เพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการได้ ความสามารถวิเคราะห์ประเมินและคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำเร็จของงานเกษตรกรรมที่เคยต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน จำนนกับแรงกดดันรอบตัว ทำให้สามารถควบคุมงานได้ดีขึ้น

2. กลุ่มอุปกรณ์ทำงานทดแทน เพราะแรงงานมนุษย์อาจมีข้อจำกัด มีต้นทุนสูงขึ้น หายากขึ้น และเหมาะที่จะนำไปทำสิ่งอื่นที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า จึงเกิดเป็นการนำเทคโนโลยีมาสร้างอุปกรณ์ทำงานทดแทน เช่น ระบบการจัดการน้ำ หรือที่เรียก Smart Irrigation ที่ช่วยตั้งแต่วางแผนการเก็บและไปถึงการใช้หรือการให้น้ำตามเวลาผ่านระบบที่ติดตั้งไว้ เรื่องนี้เป็นงานที่เอาเครื่องมาแทนคนได้ง่ายเพราะไม่ซับซ้อนหรือต้องใช้ทักษะช่วยพิจารณา ไม่เหมือนงานส่วนอื่น เช่นการเก็บเกี่ยว Startup ที่พัฒนาอุปกรณ์ทดแทนในภาคเกษตรนี้ยังรวมไปถึงการนำ Drones กับหุ่นยนต์ที่ผสานระบบการสำรวจและเก็บข้อมูลใหม่เพิ่มเติมมาช่วยวิเคราะห์ประมวลผลได้ เช่นกันกับกลุ่มที่ทำ Sensors ช่วยเกษตรกรสำรวจติดตามสภาพแปลงเกษตรซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีช่วยบอกเตือนสภาพดิน หรืออากาศที่มีผลต่อคุณภาพผลผลิตได้

3. กลุ่มเกษตรแนวใหม่ อันนี้เป็นการหาทางสร้างวิธีทำงานที่ต่างไปจากเดิม เช่น บางพื้นที่เคยเพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์บางอย่างไม่ได้ ด้วยเทคโนโลยีการทำโรงเพาะเลี้ยงชนิดใหม่ก็ไปสร้างโอกาสใหม่ให้เกิดขึ้น ดังจะเห็นชัดเจนในแถบตะวันออกกลาง ท่ามกลางทะเลทรายก็ยังมีการเกษตรเกิดขึ้นได้ หรือแม้แต่บนตึกสูงในเมืองที่ไม่มีที่ดินก็ทำสวนผักกันบนดาดฟ้าได้แล้ว

ถัดจากกลุ่มที่ทำงานต้นน้ำกับการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ ต่อมาใน Value Chain ก็เป็นกลางน้ำเพื่อขนส่งต่อไป ทั้งที่ไปสู่ตลาดผู้บริโภคแบบ B2C และที่ไปจัดการแปรรูปต่อในภาคอุตสาหกรรมแบบ B2B สัปดาห์หน้ามาชวนคิดกันต่อว่ามีพื้นที่ทำงานที่ตรงไหนได้อีก เพื่อส่งเสริมคนรุ่นใหม่มาทำ Startup สนับสนุนงานเกษตรกรรมอันเป็นอนาคตสำคัญของชาติเรากันให้มากขึ้น