เปลี่ยนหุ้นวนไปครับ

เปลี่ยนหุ้นวนไปครับ

เปลี่ยนหุ้นวนไปครับ

การเคาะหุ้นในช่วงนี้นับว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก ภายใต้ภาวะตลาดที่ไม่มีแนวโน้มที่จะวิ่งทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน ตลาดก็ไม่สะทกสะท้านต่อข่าวร้าย เช่น สัญญาณการดูดสภาพคล่องออกจากระบบของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ทำให้ตลาดร่วงลงแต่อย่างใด เทียบกับเมื่อปี 2556 เมื่อ Fed ประกาศว่าจะอัดฉีดสภาพคล่องด้วยเม็ดเงินที่น้อยลง (ไม่ถึงขั้นดูดสภาพคล่องออกด้วยซ้ำ) หุ้นก็ร่วงจาก 1,600 ไปเหลือแค่ 1,200 กว่าจุด ส่วนข่าวร้ายอื่นๆ ดูเหมือนจะไม่กระทบตลาดเลย ไม่ว่าจะเป็น Brexit (ที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นหลังจากพรรครัฐบาลจัดเลือกตั้งแล้วได้เสียงสนับสนุนน้อยลง) ความตึงเครียดในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี หรือความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ

แต่... ตลาดก็ไม่ได้ปรับขึ้นเช่นกัน แม้ว่าตัวเลขผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 จะออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับ GDP ของไทยที่ออกมาสูง จนเริ่มมีสถาบันวิจัยหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชนปรับประมาณการ GDP ในปีนี้และปีหน้าขึ้นมาอยู่แถวๆ 3.5% มากขึ้น แต่ตลาดหุ้นบ้านเราก็ไม่ไปไหนเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านที่ขึ้นไป 8-20% กันแล้ว ทำให้อัตราส่วน PE ratio ขอไทยอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับภูมิภาค (ดูจากรูป) ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตน่าสนใจคือในปีนี้ SET50 ชนะ SET Index อยู่ 1-2% (เยอะที่สุดนับตั้งแต่หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้นมา) ซึ่งปกติแล้ว 6 ปีใน 10 ปีที่ผ่านมา SET50 หรือหุ้นขนาดใหญ่ที่สุด 50 ตัวของตลาด (free-float adjusted) มักจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อ SET Index โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1.7% (รวมปันผล) สิ่งที่ทำให้หุ้นขนาดเล็กให้ผลตอบแทนไม่ค่อยดีในปีนี้ก็เป็นเพราะ ราคาหุ้นกลุ่มนี้มักอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับผลประกอบการของบริษัท ( PE สูงๆ) เพราะตลาดให้ราคาบน “ความคาดหวัง” ว่าการเติบโตต้องสูง ทำราคาหุ้นมีความอ่อนไหวต่อผลประกอบการมาก พอออกมาผิดหวังเพียงเล็กน้อยก็ทำให้หุ้นร่วงไปอย่างมาก

ที่น่าสนใจคือทำไมผลประกอบการจึงน่าผิดหวัง เพราะหากมองจาก GDP ของไทยที่ออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด หุ้นขนาดเล็กเหล่านี้ก็ไม่น่าทำให้นักลงทุนต้องช้ำใจ ซึ่งอาจพอวิเคราะห์ได้ว่า GDP ของไทยปีนี้ถูกขับเคลื่อนโดยการส่งออกที่ขยายตัวดีเป็นหลัก เม็ดเงินดังกล่าวกระจุกตัวในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภาคการส่งออกที่โตดีมันเป็นสินค้าเทคโนโลยีซึ่งไม่ได้จ้างแรงงานมากนัก เมื่อรวมกับการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบกำไรของผู้ประกอบการ ทำให้ผลของการส่งออกที่โตดี ไม่ส่งผ่านไปยังการใช้จ่ายในประเทศมากนัก เห็นได้จากการบริโภคและการลงทุนเอกชน ที่ยังอ่อนแอ 

ข่าวดีคือ หากการส่งออกยังขยายตัวดีตามเศรษฐกิจโลกแบบนี้ไปอีกซัก 3-6 เดือน จะส่งผลให้กำลังการผลิตส่วนเกินในประเทศลดลง และจะเกิดการลงทุนใหม่ๆ ขยายกำลังการผลิต ตลอดจนการจ้างงานที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะมาประจวบกับการลงทุนภาครัฐที่เร่งอนุมัติงบไปก่อนหน้านี้ น่าจะเริ่มมีเม็ดเงินออกมาใช้จ่าย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้พอดี

ดังนั้น เราจึงสรุปมุมมองการลงทุนไตรมาส 3 และครึ่งหลังของปีว่าน่าจะเป็นรูปแบบ side-way up หรือเป็นลักษณะการเปลี่ยนกลุ่มหุ้นวนรอบและค่อยๆปรับตัวขึ้น กลยุทธ์ที่แนะนำจึงเป็นลักษณะของการลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่วิ่งมาไกล PE เริ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา และไปลงทุนเพิ่มในหุ้นที่ยังคงล้าหลังกว่าตลาดหรือปรับตัวลงมาแรงเกินไป (laggard stocks) โดยต้องดูหุ้นที่มีเรื่องราวของการเติบโตที่ดีในครึ่งหลังของปีนี้ ต่อเนื่องไปในปีหน้า 

 โดยทาง บล. ไทยพาณิชย์ ได้ออกบทวิจัยไตรมาส 3 เลือกหุ้นกลุ่มที่ล้าหลังตลาดแต่ยังมีอนาคตดี ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล (BDMS, CHG) กลุ่มพลังงาน (IRPC, PTT) และหุ้นตัวที่ล้าหลังในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นวัฏจักรขาขึ้น (SVI, KCE) โดยแนะนำให้ทยอยซื้อลงทุนในระยะเป้าหมาย 3-6 เดือน ภายใต้มุมมองตลาดที่เป็นการปรับตัวขึ้นแบบ side way ดังกล่าว