เทคโนโลยีกับอนาคตของงาน

เทคโนโลยีกับอนาคตของงาน

ปัจจุบันมีการคาดการณ์เกี่ยวกับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่จะมาทดแทนมนุษย์ในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะหลังที่เทคโนโลยีทั้งทางด้าน Artificial Intelligence หรือMachine Learning หรือ หุ่นยนต์ ที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และมีทีท่าจะทดแทนมนุษย์ในการทำงานประจำต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีข่าวที่องค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลกและระดับชาติ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทดแทนมนุษย์ในการทำงานบางอย่าง เช่น เครื่องคิดเงินอัตโนมัติที่มาแทนพนักงานในห้างค้าปลีก หรือ การให้บริการทางการเงินผ่านทางอินเทอร์เน็ตสำหรับสถาบันการเงินต่างๆ แทนที่จะมาใช้บริการที่สาขา

 

คำถามที่น่าคิดคือแล้วจริงๆ แล้วในอนาคตเทคโนโลยีจะสามารถเข้ามาทดแทนมนุษย์ในการทำงานได้จริงหรือไม่และทดแทนได้มากน้อยเพียงใด? ซึ่งคำตอบนั้นก็มีอยู่สองมุมมองด้วยกัน ในมุมมองแรกคือในไม่ช้างานหรืออาชีพต่างๆ จำนวนมากจะถูกเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เป็นลักษณะของการทำซ้ำแบบเดิมๆ หรือ งานที่ไม่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ แต่ในมุมมองตรงกันข้ามก็มองว่าจริงๆ แล้วพัฒนาการของเทคโนโลยีนั้นไม่ได้เพิ่งมีแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา และพัฒนาการของเทคโนโลยีในอดีตก็ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งความกังวลว่าจะมาทดแทนมนุษย์ในการทำงานแทบทั้งสิ้น

 

ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ก็ได้พยายามยกหลักฐานต่างๆ ในอดีตมาแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีนั้นได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและส่งผลคุกคามต่อมนุษย์ในการทำงานมาตลอด แต่จนถึงปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะมาทดแทนมนุษย์ในการทำงานได้ เช่น ในปี ค.ศ. 1850 มีกลุ่มช่างตัดเสื้อในนิวยอร์คได้ออกมาประท้วงว่าจะนัดหยุดงาน ถ้าเหล่านายจ้างไม่หยุดที่จะนำเครื่องจักรเย็บผ้ามาใช้ ซึ่งถ้านับตั้งแต่ 1850 จนถึง 2017 ในปัจจุบัน ถึงแม้พัฒนาการของจักรเย็บผ้าหรือเครื่องจักรในการตัดเย็บเสื้อผ้า ไปอย่างมากมายเพียงใด แต่อาชีพช่างตัดเสื้อก็ยังคงเป็นอาชีพหนึ่งของมนุษย์

 

ในปี ค.ศ. 1930 นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง John Maynard Keynes ได้บัญญัติศัพท์คำว่า Technological Unemployment ซึ่งหมายถึงการว่างงานที่เกิดขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยี แถมยังระบุด้วยว่าจากพัฒนาการของเทคโนโลยี จะทำให้มนุษย์เข้าสู่ยุค Age of leisure and of abundance เมื่อเทคโนโลยีจะสามารถเข้ามาตอบสนองความต้องการพื้นฐานของเราได้ จะทำให้มนุษย์มีเวลาและทรัพยากรต่างๆ อย่างพอเพียงมากขึ้น แถม Keynes ยังพยากรณ์ว่าในอนาคตมนุษย์จะทำงานเพียงแค่ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เนื่องจากไม่มีอะไรจะต้องทำ (เทคโนโลยีทำให้หมด) แต่ในปัจจุบันการทำงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ 15 เหมือนที่พยากรณ์ไว้

 

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากตัวอย่างในอดีตจะพบว่าช่วงระยะเวลาในปัจจุบันไม่ใช่ช่วงแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์และการทำงาน ที่มีความคิดที่ว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีจะทำให้ความสำคัญและจำเป็นของมนุษย์ต่อการทำงานหมดไป จริงอยู่ที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีอิทธิพลต่องานบางประเภท และทำให้ความสำคัญหรือจำเป็นของมนุษย์ต่องานประเภทนั้นหมดไป แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์งานชนิดใหม่ๆ ขึ้นมา และสุดท้ายมนุษย์ก็สามารถที่จะเรียนรู้และอยู่ร่วมกับเทคโนโลยี แถมยังใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยคในการสร้างคุณค่าให้กับงานที่ตนเองทำ

 

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจาก McKinsey Global Institute ที่ศึกษาผล กระทบจาก automation ต่องานกว่า 2,000 ประเภท ซึ่งเปิดเผยว่ามีงานเพียง 5% เท่านั้นที่เทคโนโลยีและ automation สามารถเข้าไปทดแทนได้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือนั้นเทคโนโลยีเพียงเข้าไปทดแทนบางส่วนหรือบางกิจกรรมของงานเท่านั้น ซึ่งงาน 5% ที่เทคโนโลยีสามารถเข้าไปทดแทนได้หมดนั้นก็จะเป็นงานที่ต้องทำแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ ที่ไม่ต้องอาศัยการปรับตัว หรือ การสร้างสรรค์ใดๆ

 

สุดท้ายการที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนมนุษย์ในการทำงานได้มากน้อยเพียงใดนั้น ผมว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเทคโนโลยี แต่ขึ้นอยู่กับมนุษย์มากกว่าที่จะรู้จักปรับตัว เรียนรู้ และพัฒนาตนเองให้ทำงานที่เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ใดๆ ก็ไม่สามารถมาทดแทนได้