การเป็น การเลิก ห้างหุ้นส่วนสามัญ

การเป็น การเลิก ห้างหุ้นส่วนสามัญ

บุคคลตั้งแต่สองคนร่วมลงทุนกระทำกิจการบางอย่าง โดยอาจลงทุนเป็นเงิน หรือทรัพย์สินหรือลงแรงงาน ไมมีเจตนาจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน

และไม่มีการทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ แต่ถ้าการลงทุนกระทำกิจการนั้นมีลักษณะเข้าองค์ประกอบเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กิจการนั้นก็จะมีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามกฎหมาย

 

ไม่เจตนาตั้งเป็นห้าง แต่ก็เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15130/2551 โจทก์และจำเลยเข้าเป็นหุ้นส่วนกันซื้อที่ดินจำนวนสองแปลงมาเพื่อขายเอากำไร กิจการขายที่ดินดังกล่าว เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14968/2558 โจทก์และจำเลยร่วมกันทำกิจการตลาดนัด โจทก์ไม่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินใด ๆ มาลงหุ้น แต่ได้ความว่าโจทก์เป็นผู้จัดล็อกพื้นที่ในตลาดเพื่อให้ผู้ค้าเช่าแผงขายสินค้าและจัดทำบัญชีเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการค้านั้นเท่ากับว่าโจทก์ได้ร่วมลงทุนหรือลงหุ้นเป็นแรงงานแล้วเข้าลักษณะเป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน

 

การเลิกกิจการที่มีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ

 

เมื่อกิจการที่ร่วมลงทุนมีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ การเลิกกิจการต้องเป็นไปตามเหตุที่กฎหมายบัญญัติไว้ เหตุประการหนึ่งคือ ผู้ร่วมลงทุนคนใดคนหนึ่งสามารถบอกเลิกได้ เมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีของกิจการนั้น โดยต้องบอกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือน

 

เมื่อการร่วมลงทุนกระทำกิจการนั้น มีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หากผู้เป็นหุ้นส่วนประสงค์จะเลิกกิจการ ก็มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่ง บอกเลิกได้ เมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีของกิจการนั้น โดยต้องบอกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนตกลงกันเลิกห้าง แม้หุ้นส่วนบางคนประสงค์จะเลิกห้าง แต่การดำเนินการไม่เป็นตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ห้างก็ยังไม่เลิก ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่2302/2556 ที่มีข้อเท็จจริงโดยสรุปคือ โจทก์ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และ ส. ร่วมหุ้นกันซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยทำการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งซื้อขาย ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท จ. เพื่อขอเพิกถอนการโอนและการย้ายบัญชีโดยให้เหลือบัญชีเดียว และขอให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งซื้อขายและลงนามในใบยืนยันการซื้อขายแต่เพียงผู้เดียว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าหนังสือดังกล่าวยังไม่เป็นการตกลงเลิกห้าง ห้างยังคงอยู่

 

ผู้ที่ไม่ใช่หุ้นส่วนฟ้องขอให้เลิกห้างไม่ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15105/2558

 

โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นบุตรของ ถ. และ ช. บุคคลทั้งสองประกอบอาชีพค้าขายดำเนินกิจการร้านกุหลาบขาวตั้งแต่ปี 2475 และดำเนินกิจการร้านกุหลาบแดงซึ่งเดิมชื่อร้านกุ่ยเชียงมีที่ตั้งร้านอยู่บ้านเลขที่ 2 - 4 อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร โดยเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2494 ก่อนจะแจ้งย้ายสถานที่ประกอบกิจการมาตั้งอยู่อาคารพาณิชย์เลขที่ 95/86 เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนชื่อร้านเป็นร้านกุหลาบแดง ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2508 โดย ก.เป็นผู้ดูแลกิจการร้านค้าทั้งสองและเมื่อ ก. เสียชีวิต ช. เป็นผู้ดูแลแทนจนกระทั่งเจ็บป่วยจึงให้จำเลยเป็นผู้ดูแล โดย ก. และ ช. ให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรทุกคนในฐานะบิดามารดากระทำต่อบุตร โดยโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ รวมทั้งจำเลยหากมีเวลาว่างจะมาช่วยงาน ก. และ ช. ที่ร้านค้าทั้งสอง และเมื่อบุตรแต่ละคนมีรายได้จากอาชีพการงานอื่นจะส่งเงินมาช่วยจุนเจือบิดามารดาอันเป็นการปฏิบัติตนในฐานะบุตรที่มีความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า ก. และ ช. ตกลงร่วมค้าขายกับโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ โดยให้โจทก์ทั้งสามลงแรงเป็นหุ้น และประสงค์จะแบ่งเงินกำไรกันหรือหากขาดทุน โจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆต้องรับผิดชอบอย่างไร ก. และ ช. ไม่เคยแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองให้แก่บุตรคนใดคนหนึ่ง แต่หากบุตรคนใดมีความเดือดร้อนต้องการใช้เงินจึงจะไปขอเบิกจาก ก. และ ช. การที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่ามีการช่วยงานที่ร้านค้าทั้งสองหรือแม้แต่แบ่งเงินรายได้บางส่วนให้แก่ ช. หลังจาก ก. เสียชีวิตแล้วจึงไม่เป็นการลงหุ้น คงเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างบิดามารดากับบุตร หาทำให้กิจการของบิดามารดาเป็นกิจการของครอบครัวอันจะถือว่าเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างบุตรกับบิดามารดาโดยปริยายไม่โจทก์ทั้งสามและจำเลยรวมทั้งบุตรคนอื่น ๆ จึงไม่เป็นหุ้นส่วนในร้านค้าทั้งสองกับ ก. และ ช. ตามบทกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ทั้งสามจะมาฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนร้านค้าทั้งสองและขอแบ่งส่วนผลกำไรจากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองไม่ได้