เศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจจีน

ในระยะหลังนี้ เศรษฐกิจจีนดูจะขยายตัวได้ดี โดยครึ่งปีแรก จีดีพีขยายตัว 6.9% และการส่งออกก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของการค้าโลก

แต่จีนยังคงนโยบายการเงินที่รัดกุมเพื่อลดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อ ซึ่งทำให้หนี้สินที่ปัจจุบันสูงถึง 277% ของจีดีพีแล้ว โดยสินเชื่อที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ สินเชื่อของบริษัท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 120% ของจีดีพี หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นก็ยังสูงในระดับที่น่ากังวลเช่นกัน ซึ่งเชื่อมโยงกับการขยายตัวอย่างเป็นฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์

 

การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวและเข้มงวดของทางการจีน ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทต่างๆ (วัดจากดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายตอนออกพันธบัตร) สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นของจีนไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้สูงมาก ตัวอย่างเช่นตลาดหุ้นสหรัฐนั้นปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการ (record high) หลายสิบครั้ง ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (หลังทำได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี) แม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่ได้มีผลงานในการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด และนางเยลเลน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่าหากจีดีพีสหรัฐจะขยายตัวได้ 3% ตามที่รัฐบาลทรัมป์คาดการณ์ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะธนาคารกลางสหรัฐเองก็คิดว่าจีดีพีสหรัฐไม่น่าจะขยายตัวได้ไม่เกิน 2% ต่อปี

 

ผมสงสัยว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจจีน ในระยะยาวจะไม่สู้ดีมากนัก เพราะปัญหาโครงสร้างที่มีหนี้สินมาก ในส่วนของระยะสั้นนั้น ผมเชื่อว่าจีนมีความเสี่ยงที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐจะเสื่อมถอยลง เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าสหรัฐฯ ผ่อนปรนให้กับจีนในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา (หลังการพบปะกันระหว่างนายทรัมป์กับประธานาธิบดีสี่จิ้นผิง ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา) นั้น ก็เพราะประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าได้มอบหมายให้จีนไปกดดันเกาหลีเหนือให้ยุติการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่เห็นผล ตามที่ทรัมป์คาดหวังเอาไว้ หากพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่าสหรัฐฯมีมาตรการในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่สะท้อนว่าไม่เกรงใจจีนดังนี้ 

 

  1. การขายอาวุธให้กับไต้หวัน
  2. การนำเรือรบสหรัฐฯไปใกล้หมู่เกาะที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์
  3. การซ้อมรบทางอากาศร่วมกับเกาหลีใต้
  4. การไม่ตอบรับข้อเสนอร่วมของจีนและรัสเซีย ให้เกาหลีเหนือและสหรัฐ “ถอยกลับคนละก้าว” กล่าวคือให้สหรัฐฯและเกาหลีใต้ ยุติการซ้อมรอบและเพิกถอนระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD เพื่อแลกกับการเสนอให้เกาหลีเหนือยุติการพัฒนาอาวุธ
  5. สหรัฐประกาศคว่ำบาตร (sanction) บริษัทและธนาคารของจีนที่เมือง Dandong ซึ่งทำธุรกรรมเป็นตัวแทนให้กับเกาหลีเหนือ

 

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐได้ให้ข่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า สหรัฐกดดันจีนให้มีมาตรการเข้มข้นยิ่งขึ้นในการบีบบังคับเกาหลีเหนือ ซึ่งหากจีนไม่ตอบสนองจนเป็นที่พอใจของสหรัฐฯ ในการประชุมร่วมกันระดับรัฐมนตรี หรือ Comprehensive Economic Dialogue (CED) ที่กรุงวอชิงตันในวันที่ 19 กรกฎาคม ก็มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯจะประกาศคว่ำบาตรบริษัทและธนาคารจีนเพิ่มขึ้นอีกหลายรายที่สหรัฐประเมินว่าเป็นนายหน้าให้กับเกาหลีเหนือ นอกจากนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ก็กำลังจะประกาศมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าเหล็กกล้า (โดยอ้างกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ) ซึ่งน่าจะกระทบกับผู้ส่งออกเหล็กกล้าหลายประเทศ รวมทั้งจีนด้วยในระยะเวลาอันใกล้นี้

 

สำหรับภาพระยะยาวนั้น สำนักข่าว Bloomberg ได้ มีบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมว่า ผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity-TFP) ของจีนในภาคอุตสาหกรรมนั้น เกือบจะไม่ขยายตัวเลยในช่วง 2008-2017 แตกต่างจากช่วง 1998-2007 ซึ่ง TFP ของภาคอุตสาหกรรมของจีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.6% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนเร่งให้มีการลงทุนและขยายสินเชื่อจำนวนมหาศาลภายใต้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวนเมื่อปี 2008 

 

ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากภาคธนาคารของสหรัฐ โดยนโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจจีนหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย แต่ทำให้เกิดปัญหาระยะยาว เพราะการลงทุนจำนวนมากอย่างเร่งรีบในอดีตดังกล่าวให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก โดยฝ่ายที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดคือ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจและพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซึ่งได้รับสินเชื่อและเงินอุดหนุนจากภาครัฐ) ที่สามารถขยายกิจการแต่ขาดประสิทธิภาพจนปัจจุบันเป็นเรียกว่าเป็นบริษัท “ศพเดินได้” หรือ zombie companies กล่าวคือบริษัทดังกล่าวยังดำเนินกิจการทั้งๆ ที่ขาดทุนและไม่สามารถแข่งขันได้ เป็นการเบียดบัง ผู้ผลิตรายใหม่ทำให้ ไม่สามารถเกิด ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ หรือขยายกิจการได้ 

 

Bloomberg อ้างบทวิเคราะห์ซึ่งประเมินว่า ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจของจีนใช้สินเชื่อในระบบมากถึง 30% แต่มีผลผลิตคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของจีดีพี ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรทางการเงินที่เปลืองแต่ให้ผลตอบแทนในเชิงของผลผลิตที่ต่ำมาก

 

จึงเป็นข้อเตือนใจว่าการลงทุนนั้นจะต้องได้ผลคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจจริง มิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็นภาระฉุดรั้งการขยายตัวและความมั่งคั่งในอนาคตได้ครับ