ถามตอบห้าคำถามกับนักลงทุน

ถามตอบห้าคำถามกับนักลงทุน

อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากบริษัท Fitch Ratings (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ ให้ไปร่วมงานสัมมนา

ในหัวข้อ Thai Corporate Credit Outlook and Warning Signals หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทไทยและสัญญาณเตือน ไปในฐานะแขกรับเชิญเพื่อตอบคำถามช่วงที่เรียกว่า Keynote Dialogue กับผู้จัด เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการกำกับดูแลกิจการในประเทศไทยให้นักลงทุนที่มาร่วมงานฟัง วันนี้ก็เลยอยากจะนำคำถามและคำตอบบางส่วนจากงานสัมมนามาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

 

  1. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าหลายๆประเทศในภูมิภาค มีปัจจัยอะไรที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลาง

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคก็คือ การลงทุนภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำและความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลง ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่จำเป็นต้องแก้ไข ดังนั้นการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยในระยะปานกลางให้ประสบผลสำเร็จจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยปฏิรูปในเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญต่างๆอย่างจริงจัง ตั้งแต่เรื่องการพัฒนาผลิตภาพ คุณภาพการศึกษา การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ ซึ่งการปฏิรูปในเรื่องเหล่านี้สำคัญมากต่อการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับอนาคตของประเทศในระยะต่อไป แต่การปฏิรูปจะสำเร็จได้ดีก็ต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่มีเสถียรภาพสนับสนุน เพราะหากการเมืองยังไม่นิ่งก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการขยายตัวของเศรษฐกิจเหมือนที่ผ่านมา  

 2. ที่อยู่ในระดับต่ำสะท้อนถึงสภาวะธุรกิจที่อ่อนแอหรือข้อจำกัดด้านโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย?  

 

การที่สัดส่วนการลงทุนของประเทศอยู่ในระดับต่ำเป็นผลจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยในฝั่งของอุปสงค์ ปัจจัยที่ฉุดการลงทุนก็คือกำลังซื้อที่อ่อนแอ กำลังการผลิตส่วนเกินที่มีในบางอุตสาหกรรมและความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงสิบปีหลัง ความเสี่ยงด้านการเมืองที่สูงขึ้นมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศยังไม่ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่ชะลอลงและตัวเลขการลงทุนของบริษัทไทย ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนถึงมุมมองของนักลงทุนว่า สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองของไทยในปัจจุบันยังไม่จูงใจให้มีการลงทุน และบางส่วนเลือกที่จะนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศแทน 

 

สำหรับในฝั่งอุปทานก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะประเทศไทยยังขาดปัจจัยสนับสนุนการลงทุนที่สำคัญในหลายด้าน ทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ความเข้มแข็งด้านนวัตกรรม แรงงานมีทักษะ แถมด้วยข้อจำกัดจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่สร้างต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ ดังนั้นการจะสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน จำเป็นต้องจัดการกับปัญหาเหล่านี้ การปฏิรูปจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การลงทุนไม่สามารถกระตุ้นได้โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเพียงอย่างเดียว  

 

3. จากตัวชี้วัดด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่จัดทำโดยธนาคารโลก พบว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคะแนนลดลงอย่างมากในด้านของการทำหน้าที่และรับฟังเสียงของประชาชน และเสถียรภาพทางการเมือง คะแนนที่ลดลงดังกล่าวส่งผลกระทบกับเรื่องของการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคเอกชนอย่างไรบ้าง

 

สิบปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อเนื่องมาถึงด้านเศรษฐกิจด้วย แต่เราก็พบว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ การกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคเอกชนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากคะแนนรายงานการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนของไทย (CGR) ที่จัดทำเป็นประจำทุกปีโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จำนวนกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนที่ให้ความสนใจกับเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสมัครเข้าร่วมหลักสูตรอบรมกรรมการและผู้บริหารของ IOD ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตลอดจนจำนวนบริษัทเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆแสดงว่าบริษัทธุรกิจต้องการให้มีการทำธุรกิจอย่างสะอาดและปลอดคอร์รัปชันในประเทศไทยและพร้อมแสดงตนเข้าร่วมมือ 

 

แต่แม้การกำดับดูแลกิจการในภาคเอกชนจะมีพัฒนาการดีขึ้น แต่การทุจริตคอร์รัปชันก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งสวนทางกัน จึงชี้ว่าธรรมาภิบาลในภาครัฐอาจมีปัญหามากและอาจเลวร้ายหนักขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เหล่านี้คงเป็นเหตุผลให้ตัวชี้วัดของประเทศไทยที่จัดทำโดยธนาคารโลกมีคะแนนลดลง 

 

4. นักลงทุนไทยควรสนใจประเด็นด้านการกำกับดูแลกิจการไหม และเราจะวัดระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทได้อย่างไร

 

นักลงทุนมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้บริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสามารถทำได้โดยการนำประเด็นเรื่องการกำกับดูแลกิจการมาเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจลงทุน ตามปกติแล้ว นักลงทุนจะมองว่าบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการไม่ดีเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุน และมองว่าบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการดีเป็นธุรกิจที่จะยั่งยืนในระยะยาวและเป็นตัวเลือกการลงทุนที่ปลอดภัยกว่า ดังนั้นนักลงทุนไทยก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการกำกับดูแลกิจการเช่นเดียวกับนักลงทุนอื่นๆในโลก ยิ่งนักลงทุนให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเพิ่มแรงกดดันให้บริษัทต้องนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาปฏิบัติใช้ มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ซึ่งจะดีต่อทั้งการลงทุนและการติดตามพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัทที่เข้าไปลงทุน 

 

สำหรับการวัดระดับของการกำกับดูแลกิจการของบริษัทในประเทศไทย นักลงทุนสามารถใช้คะแนน CGR ของสถาบันไอโอดีเป็นจุดเริ่มต้นได้ ซึ่งขณะนี้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ก็จะใช้คะแนน CGR เป็นตัวอ้างอิงในการประเมินระดับการกำกับการดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย 

 

5. ระดับของการกำกับดูแลกิจการของภาคเอกชนไทยเมื่อเทียบกับมาตรฐานในระดับภูมิภาคและระดับโลกแล้วเป็นอย่างไร และมีประเด็นไหนที่จำเป็นต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น

 

เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลแล้วต้องถือว่าพัฒนาการของการกำกับดูแลกิจการของภาคเอกชนไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี ตัวอย่างเช่นในการประเมินระดับการกำกับดูแลกิจการของประเทศต่างๆในเอเชีย โดย Asian Corporate Governance Association บริษัทและตลาดทุนไทยติดอันดับหนึ่งในห้าของเอเชียมาตลอดตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา และในการประเมิน ASEAN CG Scorecard ซึ่งเป็นการประเมินระดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ASEAN ก็พบว่าบริษัทจดทะเบียนของไทยมีคะแนนโดดเด่นมาตลอด แสดงให้เห็นถึงการนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาปฏิบัติตามมาตรฐานของ ASEAN แต่ในภาพรวม ถึงแม้ว่าบริษัทไทยจะมีพัฒนาการที่โดดเด่น แต่เราก็ยังมีปัญหาอยู่มากเช่นกัน เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับการให้สินบนหรือการใช้ข้อมูลภายในเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้บริหารที่ปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาวในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่ใช่เกิดขึ้นในบริษัทเล็กๆ แต่เป็นบริษัทระดับแถวหน้าของประเทศ ดังนั้น เรื่องนี้ เรายังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก อย่างน้อยก็สามประเด็นที่ควรต้องปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น 

 

หนึ่ง ภาวะผู้นำที่มีจริยธรรม (Ethical Leadership) ซึ่งหมายถึงผู้นำคือกรรมการและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหรือบริษัทต้องปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องจริยธรรมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นและเกิดความศรัทธา 

 

สอง การทำหน้าที่ของคณะกรรมการในการกำกับดูแลต้องจริงจังและเข้มแข็ง เพื่อให้การดำเนินการภายในบริษัทเป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นชี้ว่าคณะกรรมการบางบริษัทไม่ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างจริงจัง 

 

และสาม การสร้างความไว้วางใจ ชื่อเสียง และความชอบธรรมในการทำธุรกิจของบริษัทให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับประโยชน์และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆอย่างเหมาะสมและเพียงพอในการตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัท