อภิมหาเศรษฐีต้องการปกป้องรักษาความมั่งคั่งมากขึ้น

อภิมหาเศรษฐีต้องการปกป้องรักษาความมั่งคั่งมากขึ้น

อภิมหาเศรษฐีต้องการปกป้องรักษาความมั่งคั่งมากขึ้น

ประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี ดิฉันจะนำพอร์ตการลงทุนของเศรษฐีที่ แคปเจมิไน ทำมาเล่าให้ท่านอ่าน แต่ปีนี้รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่ออกมา จึงขออนุญาตนำรายงานของ ไนท์แฟรงก์ และข้อมูลบางส่วนของ เวลท์เอ๊กซ์ มาแบ่งปันกับท่านค่ะ

ข้อแตกต่างคือ สองสำนักนี้สำรวจข้อมูลเฉพาะของอภิมหาเศรษฐี คือมีความมั่งคั่งเกิน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,020 ล้านบาท) ขึ้นไป ที่เรียกว่า Ultra High Net Worth Individuals (UHNWIs) ในขณะที่แคปเจมิไน สำรวจผู้มีความมั่งคั่งสูง ที่มีความมั่งคั่ง 1 ล้านเหรียญขึ้นไป

ไนท์แฟรงก์คาดว่า จำนวนประชากรของอภิมหาเศรษฐีในโลกอยู่ที่ประมาณ 193,490 คน ในขณะที่เวลท์เอ๊กซ์ ประมาณว่าอภิมหาเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งเกิน 30ล้านเหรียญในโลกนี้มีถึง 226,450คน มีความมั่งคั่งรวมกัน 27.035 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 919.2 ล้านล้านบาท และจะเพิ่มจำนวนเป็น 299,000 คนในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยเมื่อจัดอันดับประเทศที่มีประชากรอภิมหาเศรษฐี มากที่สุดในปี 2559 นั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ค่ะ มีอภิมหาเศรษฐี 1,250 คน (เพิ่มขึ้น 4.2%) มีความมั่งคั่งรวมประมาณ 5.9 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.3%)

เวลท์เอ๊กซ์ ยังให้ข้อมูลจากการสำรวจเพิ่มเติมว่า อภิมหาเศรษฐีเหล่านี้ ร่ำรวยจากการสร้างตัวขึ้นมาเอง 66.4% จากการรับมรดกและสร้างตัวขึ้นมา 21.9% และที่เหลือ 11.7% ร่ำรวยจากการรับมรดกค่ะ

การสำรวจของไนท์แฟรงก์ จะครอบคลุมการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท รวมถึงธุรกิจส่วนตัวด้วย ไม่ได้เน้นเฉพาะการลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอเหมือนของแคปเจมิไน จึงไม่สามารถแยกว่าลงทุนหุ้น ตราสารหนี้ เงินสดเป็นสัดส่วนเท่าใด แต่จะเป็นสัดส่วนรวมว่า อภิมหาเศรษฐีทั่วโลก มีการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอ ที่รวมหุ้น ตราสารหนี้ เงินสด โลหะมีค่า ฯลฯ เป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ย 25% ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (ไม่รวมหลังที่พักอาศัยอยู่ และบ้านหลังที่สอง) เฉลี่ย 24% ลงทุนในธุรกิจส่วนตัว 23% บ้านที่พักอาศัยอยู่และบ้านหลังที่สองมีมูลค่ารวมประมาณ 16% ลงทุนในของสะสม 6% และลงทุนอื่นๆอีก 6%

ปัจจัยที่ใช้ในการเลือกลงทุนมีหลายปัจจัย แต่ที่อภิมหาเศรษฐีกล่าวถึงมากที่สุดในการเลือกลงทุนในปี 2559 คือ 66% ต้องการปกป้องรักษาความมั่งคั่ง 60%ต้องการให้เงินเติบโต 52% ต้องการส่งต่อให้ทายาท 47%ต้องการรายได้จากผลตอบแทนการลงทุน 45% ต้องการกระจายความเสี่ยง 44%ต้องการรับความเสี่ยงให้น้อยที่สุด 43%ต้องการเสียภาษีให้น้อยที่สุด 42%ต้องการความเป็นส่วนตัว 27%ต้องการสภาพคล่องในการลงทุน 26% ต้องการป้องกันการถูกแทรกแซงทางการเมือง (ตัวเลขสูงเนื่องจากละตินอเมริกา มีการกล่าวถึงปัจจัยนี้ถึง 42% จึงมีการทำให้น้ำหนักเฉลี่ยสูงขึ้น) 21% ต้องการหาวิธีใหม่ๆในการลงทุน 14%ต้องการเคลื่อนย้ายการลงทุนได้เร็ว 9%ต้องการให้คืนกับสังคม และ 3%ลงทุนเพื่อให้คนอื่นมองว่าตนเองเป็นประชากรโลกที่รับผิดชอบ

ความต้องการปกป้องรักษาความมั่งคั่ง ทำให้อภิมหาเศรษฐีเหล่านี้ ถือสินทรัพย์สภาพคล่อง (เงินสดและเทียบเท่า) ไว้เป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงคือ เวลท์เอ๊กซ์ คาดว่าในอร์ตมีการลงทุนในสภาพคล่องสูงถึง 35.4% ลงทุนนอกตลาด 33% ลงทุนในตลาด 25% และลงทุนในอสังหาริมทัพย์และสินทรัพย์ประเภทของหรูหรา 6.6%

ข้อมูลของสองค่ายนี้แตกต่างกัน ดิฉันวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งคือทาง ไนท์แฟรงก์นำธุรกิจส่วนตัวและที่พักอาศัยมาคำนวณรวมด้วย ในขณะที่เวลท์เอ๊กซ์ ไม่ได้นับรวม

เนื่องจากอภิมหาเศรษฐีเหล่านี้ มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ท่านผู้อ่านอาจจะอยากทราบว่า เขาใช้ปัจจัยอะไรในการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยหลักในปี 2559 เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความปลอดภัยส่วนบุคคล การเข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ หรือไลฟ์สไตล์ เมื่อซื้อแล้วเงินลงทุนปลอดภัย เพื่อการศึกษาของบุตร เพื่อโอกาสในการทำกำไร เพื่อสุขภาพ มีการคมนาคมเชื่อมต่อที่ดี และเหตุผลทางธุรกิจ ทั้งนี้ ไม่ได้สำรวจปัจจัยสำหรับใช้ในการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ (ซึ่งดิฉันคาดเดาว่าน่าจะเป็นเรื่องโอกาสในการทำกำไรทั้งจากรายได้ค่าเช่า และจากมูลค่าเพิ่ม)

พูดถึงการศึกษา พบว่า อภิมหาเศรษฐีให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกมาก มีความนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนในอังกฤษ ตามสถิติบอกว่า จำนวนนักเรียนไทยจากครอบครัวฐานะดี ที่ไปเรียนในอังกฤษ เพิ่มจาก 135 คนในปี พ.ศ. 2548-2549 เป็น 303 คนในปีที่แล้ว คิดเป็นอัตราเพิ่ม 124% คนจีนก็นิยมส่งลูกไปเรียนอังกฤษเช่นกัน โดย เพิ่มจาก 1,005 คนเมื่อ 9 ปีก่อน เป็น 2,924 คนในปี 2559

สิ่งที่ผู้ปกครองมองหา ไม่ใช่มีเพียงการสอนเท่านั้น แต่ยังเป็นคุณภาพชีวิตที่ดี กิจกรรมเสริมหลักสูตรที่มีให้เลือกทำ และการที่นักเรียนที่จบชั้นมัธยมจากอังกฤษ สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ทั้งในอังกฤษและอเมริกา จึงมีความคล่องตัวกว่า ขณะที่โรงเรียนในสหรัฐอเมริกา จะทำหลักสูตรไว้เพื่อให้เรียนมหาวิทยาลัยต่อในสหรัฐเท่านั้น

ในรายงานของไนท์แฟรงก์ มีการเปรียบเทียบราคาคอนโดมิเนียมเกรดเอ ในประเทศต่างๆ ว่าถูกหรือแพงเพียงใด โดยแชมป์ยังคงเป็นรัฐโมนาโคเช่นเดิม คือ เงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐจะซื้อได้ 17 ตารางเมตร (ประมาณตารางเมตรละ 2ล้านบาท) ตามมาด้วยฮ่องกง ตารางเมตรละประมาณ 1.7 ล้านบาท นิวยอร์ค 1.31ล้านบาทต่อตารางเมตร ลอนดอน 1.13 ล้านบาท ปารีส 618,000 บาทต่อตารางเมตร ปักกิ่ง 586,000บาท โตเกียว 370,000 บาทและเมลเบอร์น 310,000บาทต่อตารางเมตร

ดูไปดูมา คอนโดมิเนียมเกรดเอ ในกรุงเทพมหานครของเราเริ่มจะแพงใกล้เคียงกับโตเกียวแล้วค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก The Wealth Report 2017 ของ ไนท์แฟรงก์ และ World Ultra Wealth Report 2017 ของ Wealth-X

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ