นโยบายคุณภาพชีวิตแรงงานในยุค 4.0: บทเรียนจากต่างประเทศ

นโยบายคุณภาพชีวิตแรงงานในยุค 4.0: บทเรียนจากต่างประเทศ

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 คือคุณภาพของคนในประเทศ

โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงาน เพราะคนกลุ่มแรกที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และคนกลุ่มนี้ก็เป็นคนกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในยุโรปจึงให้ความสำคัญกับนโยบายด้านคุณภาพชีวิตของแรงงาน เพื่อให้แรงงานเหล่านี้มีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0

 

การศึกษาของ Fraunhofer Institute for Industrial Engineering ในปี ค.ศ. 2013 พบว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 มีระยะเวลาห่างกันประมาณ 100 ปี แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือที่เรียกว่า Industry 4.0 นั้น จะใช้ประมาณ 50 ปี หรือคิดเป็นแค่ครึ่งหนึ่งของเวลาที่เคยใช้ในอดีต พลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลักการปฏิวัติอุตสาหกรรมทุกครั้ง คือ การค้นพบเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกนำมาใช้มากับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การบริการจัดการ รวมถึงวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้ความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และทำให้เกิดการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ในการทำงานใหม่ ทั้งในแง่ของโครงสร้างองค์กร แนวทางการผลิต สามารถเข้าทดแทนการทำงานที่เป็นงานซึ่งไม่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทางมากนัก

 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีเทคโนโลยีหลักที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอยู่ 5 ประการด้วยกัน คือ 1) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) 2) การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีปริมาณมาก (Big Data) 

 

3) เทคโนโลยีอัจฉริยะ ได้แก่ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) การสร้างสถานการณ์จำลอง (Simulation) และการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) 4) การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และ 5) การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) 

 

ในยุคนี้ แรงงานต้องทำงานในสภาพแวดล้อมใหม่ที่เรียกว่าระบบทำงานที่เชื่อมโยงสภาพทางกายภาพกับไซเบอร์เข้าด้วยกัน (Cyber-Physical System หรือ CPS) งานบางอย่างจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี งานบางอย่างจะมีเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วย แต่ก็ยังมีงานอีกหลายอย่างซึ่งยังต้องใช้คนทำ การเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของการทำงานจะเกิดผลกระทบต่อแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือจะเป็นหลัก

 

นโยบายบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเดินหน้าไปสู่ยุค 4.0 ของ เอสโทเนีย ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสวีเดน ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า คุณภาพชีวิตของแรงงานขึ้นอยู่กับความมั่นคงในการทำงาน ความพึงพอใจในการทำงาน ระบบการให้ค่าตอบแทนรวมถึงผลประโยชน์อื่นจากการทำงาน โอกาสแสดงความเห็น และโอกาสในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการองค์กร นโยบายที่ใช้จึงมุ่งลดโอกาสตกงานจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ช่วยให้แรงงานสามารถทำงานในองค์กรได้โดยไม่ต้องเผชิญกับความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงในระดับที่มากจนเกินไป 

 

นอกจากนี้แล้ว การมีทักษะในการทำงานที่เหมาะสมยังส่งผลต่อความก้าวหน้าในงาน ส่วนด้านการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นและการบริหารจัดการองค์กรนั้นทุกประเทศยังยึดแนวทางเดิมที่ถูกกำหนดโดยระบบการเมือง วัฒนธรรม โครงสร้างตลาดแรงงาน และปัจจัยเชิงประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศเป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 5 ประเทศยังระยะเริ่มต้นของการทำความเข้าใจว่ายุค 4.0 จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศอย่างไร ที่น่าสังเกต คือ แต่ละประเทศต่างก็พยายามหาตัวแบบในการรับมือที่เหมาะสมของตนเอง จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้ในภาพรวมจะมีแนวทางที่ชัดเจนว่าต้องมีการยกระดับทักษะของแรงงาน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว แนวทางที่เหมาะสมของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไปตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน

 

นอกจากนี้แล้ว หากพิจารณาถึงนโยบายบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นหากถูกเลิกจ้าง จะพบว่า ในปัจจุบันทุกประเทศยังคงใช้ระบบประกันสังคมที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ระบบประกันสังคมในประเทศส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบรรเทาผลกระทบจากการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นไม่บ่อยและมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก จึงเป็นที่น่าเป็นห่วงว่าระบบดังกล่าวมีความพร้อมและทรัพยากรเพียงพอต่อการดูแลแรงงานที่ตกงานเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างครอบคลุมและเพียงพอหรือไม่ เพราะระบบนี้ในทุกประเทศยังต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่

 

การปรับทักษะของแรงงานให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นเรื่องใหญ่ ประเทศที่จริงจังกับการก้าวไปสู่ยุค 4.0 ต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงพยายามสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะของแรงงาน (Skill Development Ecosystem) เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานมีช่องทางในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองตามที่ต้องการ ซึ่งเกิดจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 

 

โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะมีคณะที่ปรึกษาซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น เพื่อช่วยกันประเมินแรงงานในแต่ละระดับ แต่ละตำแหน่งงาน ต้องพัฒนาทักษะอะไรบ้าง และแนวทางไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด โดยต้องพิจารณาลักษณะเฉพาะในเชิงพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย การจับมือกันทำงานแบบนี้เป็นแนวทางที่ดี เพราะถึงทุกวันนี้แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกยังรีบออกตัวกันว่ายุค 4.0 เป็นอะไรที่ซับซ้อนเกินกว่าที่คนเพียงคนเดียวจะเห็นภาพทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์