หนึ่งถนน หนึ่งเส้นทาง

หนึ่งถนน หนึ่งเส้นทาง

หนึ่งถนน หนึ่งเส้นทาง

เส้นทางสายไหมอันเป็นเส้นทางการค้าอันเกรียงไกรในอดีตได้กลับมาเป็นหัวข้อสนทนาในแวดวงเศรษฐกิจ การค้า และแม้กระทั่งการเมืองระดับโลกอีกครั้ง หลังจากการประชุมสุดยอดว่าด้วย “แนวคิดริเริ่มเส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21” หรือ ที่รู้จักกันในนาม “หนึ่งถนน หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road – OBOR) และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Belt and Road - B&R” ที่ได้จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

Belt” ในที่นี้ คือ “ถนน” หรือ การเดินทางภาคพื้นดิน ที่เชื่อมโยงการค้าบนเส้นทางสายไหมเดิม ระหว่างประเทศต่างๆจากเอเซีย ไปจนถึงยุโรป ผ่านกลุ่มประเทศในเอเซียกลาง เอเซียตะวันตก และตะวันออกกลาง ในขณะที่ Road” ในที่นี้ หมายถึง “เส้นทาง” การเดินเรือทะเล จากเอเซีย ผ่านมหาสมุทรอินเดีย ไปยังเมืองเวนิสในประเทศอิตาลี

ทางภาคพื้นดินได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 6 เส้นทาง ได้แก่ จีนตะวันตก-ตะวันตกของรัสเซีย จีนตอนเหนือ-ตะวันออกของรัสเซีย ตะวันตกของจีน-ตุรกี จีนตอนใต้-สิงคโปร์ จีนตอนใต้-อินเดีย ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน-ปากีสถาน ภายใต้ B&R

นักวิเคราะห์หลายท่านมองว่าการปลุกปั้นอภิมหาโครงการเส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ของประธานาธิบดีสี่ จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนนี้ เป็นโครงการที่ตั้งความหวังไว้สูงอย่างยิ่ง เพราะแม้จีนจะได้แสดงตัวอย่างการเนรมิตเมืองทั้งเมือง หรือสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ในเวลาอันสั้นให้เห็นกันมาแล้ว แต่โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ครอบคลุมประชากรจำนวนมากถึง 65% ของโลก ในพื้นที่กว่า 70 ประเทศ คิดเป็น 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ 1 ใน 4 ของสัดส่วนของการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการทั่วโลก

การหาเงินจำนวนมากมายมหาศาลมาลงทุนในโครงการเหล่านี้ ซึ่งจากตัวเลขประมาณการล่าสุดของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (ADB) ที่ 26 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในอีก 15 ปีข้างหน้า หรือมากเป็น 2 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของจีนที่ประมาณ 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ตัวเลขเงินจำนวนมหาศาลนี้ แน่นอนว่าจีนลงทุนคนเดียวไม่ไหวแน่ และถึงแม้ไหว จีนก็คงต้องพิจารณาความคุ้มค่าเช่นกัน ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องเงินแล้ว การเจรจากับประเทศต่างๆถึง 60 ประเทศ ไม่ใช่เรื่องที่จะบรรลุข้อตกลงได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีความไม่ไว้วางใจกันในทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นเส้นบางๆกั้นอยู่ด้วย

แม้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากจะออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า B&R เป็นโครงการในความฝันที่ยากจะบรรลุความจริง แต่รัฐบาลรวมถึงภาคเอกชนจากประเทศต่างๆก็ไม่กล้าที่จะหันหลังให้กับความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งด้วยเหตุด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความกังวลที่จะพลาดการมีส่วนร่วม หากโครงการเป็นไปได้จริง แม้เพียงบางส่วนก็ตาม

แล้วถ้านี่คือความฝัน จีนได้อะไรจากการฝันดังๆ (ให้ฝรั่งแอบหัวเราะเยาะ) ขนาดนี้ ซึ่งหากเรามองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน นับตั้งแต่เลือกดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน โดยเน้นการบริโภคภายในประเทศ แทนการกระตุ้นการลงทุนในประเทศเช่นในอดีต จนทำให้จีนต้องเผชิญกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จะพบว่าจีนเลือกที่จะ “เจ็บในวันนี้ เพื่อย่างก้าวไปข้างหน้าที่ไกลและมั่นคงยิ่งกว่าเดิม”

ประเมินกันว่า B&R จะผลักดันให้ตัวเลขการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ของจีนไปยังประเทศเกิดใหม่ซึ่งเป็นทางผ่านส่วนใหญ่ของถนน เส้นทางรถไฟ และท่าเรือน้ำลึกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งยังไม่นับรวมถึงมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอันจะเกิดจากประสิทธิภาพทางการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นในประเทศต่างๆตลอดเส้นทางสายนี้

หนึ่งถนน หนึ่งเส้นทาง” อาจมิใช่โครงการที่เราจะได้เห็นความสำเร็จได้ในช่วงเวลาการครองอำนาจของผู้นำจีนท่านใดท่านหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกันกับการสร้างกำแพงเมืองจีนอันยิ่งใหญ่ ที่ต้องใช้เลือดและน้ำตาของคนนับล้านๆสร้างขึ้นในเวลากว่า 2,200 ปี และนี่อาจเป็นอีกหนึ่งในวิสัยทัศน์สำคัญ ที่กำลังรอวันพิสูจน์ของพี่ใหญ่แห่งเอเซียนี้