ความเหลื่อมล้ำคือสาเหตุ ที่การศึกษาไทยล้าหลัง

ความเหลื่อมล้ำคือสาเหตุ ที่การศึกษาไทยล้าหลัง

การศึกษาไทยไปไม่ถึงไหนไม่ใช่เพียงเพราะทิศทางไม่ชัดเจน ขาดวิสัยทัศน์ และความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ

แต่ประเด็นใหญ่เรื่องหนึ่งคือ “ความเหลื่อมล้ำ”

 

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่กระทบเกือบทุกแวดวงของสังคมไทย ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนมีกับคนไม่มียิ่งวันยิ่งจะกว้างขึ้น เพราะกฎหมายเอื้อคนที่ได้เปรียบในสังคม คนไร้โอกาสก็ยังขาดอำนาจต่อรอง ไม่ว่าโครงสร้างการเมืองจะออกมาในรูปใดก็ตาม

 

ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน “คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา” ที่ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญพูดถึงเรื่องนี้ในการให้สัมภาษณ์ “ไทยโพสต์” ตีพิมพ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาตอนหนึ่งว่า

 

“...ในเรื่องคุณภาพการศึกษาก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำซ่อนอยู่ ความเหลื่อมล้ำรุนแรงมากในประเทศไทย เรามีเด็กที่มาจากโรงเรียนดีๆ ไปแข่งขันด้านการศึกษา เช่น โอลิมปิกอะไรก็ชนะ ได้เหรียญทอง แต่พบว่ามันกลายเป็นว่ามาจากข้างบนที่มียอดอยู่แค่นิดเดียว แต่ข้างล่างคนส่วนใหญ่คุณภาพยังต่ำ มีการวิเคราะห์ก็พบว่าโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลในภูมิภาค ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ แม้แต่ในกรุงเทพฯ รวมถึงโรงเรียนเอกชนก็ยังมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน มีแค่ไม่กี่โรงเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ส่วนใหญ่ยังมีปัญหานี้ตรงนี้...”

 

ทำไมจึงมีความเหลื่อมล้ำ ทำไมคุณภาพไม่ดี

 

คำตอบของอาจารย์จรัสซึ่งทำงานด้านการศึกษามาช้านานคือ

 

“บอกได้เลยว่าไม่ใช่เพราะเราไม่ลงทุน ทุกคนก็รู้ว่าเราลงทุนด้านการศึกษาไปเยอะ แต่พบว่าประสิทธิภาพที่ใช้ทรัพยากรไปแล้วผลที่ออกมาไม่คุ้ม ออกมาไม่ตรงเป้า ยังใช้ไม่ได้ ที่จะไป 4.0 แต่คนของเราไม่พร้อมเลย เพราะประสิทธิภาพมันไม่ได้ ปัญหาเรื่องคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำ ประสิทธิภาพ มันไปตายตรงอันที่สี่คือความหลากหลาย เพราะเราใช้วิธีการแบบเดียวกันสำหรับทุกอย่าง มันก็เลยไม่ได้ผล คุณภาพมันไม่เกิด มันไปเกิดเฉพาะบางแห่ง แต่ส่วนใหญ่ไม่เกิด...”

 

อาจารย์จรัสบอกว่าภารกิจการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้เหมือน Mission Impossible

 

แต่ในฐานะประธานกรรมการท่านบอกว่ากรรมการทั้งหลายก็ยังมีความหวัง...หวังจากความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นโดยที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าหน่วยสำคัญที่สุดคือโรงเรียน และมีนักเรียนเป็นหัวใจ หากสามารถปรับได้ โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็มีได้

 

 ผมเชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้รู้ว่ามีงานวิจัยหลายเรื่องที่เจาะลึกลงถึง “ความเหลื่อมล้ำ” อันหมายถึงว่าเด็กจากครอบครัวฐานะยากจนอยู่ในสภาพเสียเปรียบเด็กจากครอบครัวร่ำรวย เด็กต่างจังหวัดสู้เด็กในเมืองใหญ่ไม่ได้

 

อันเป็นสาเหตุสำคัญของการที่ประเทศไทยไม่อาจจะพัฒนา “ทุนมนุษย์” อย่างมีประสิทธิภาพอย่างจริงจังได้

 

เมืองไทยไม่ได้ขาดแคลนข้อมูลและงานวิจัยหรือข้อเสนอให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา

 

ปัญหาอยู่ที่จะนำเอาข้อเสนอต่างๆ เหล่านั้นมาปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่องเท่านั้นเอง

 

พรุ่งนี้ว่าต่อประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” ทางด้านการศึกษาที่เป็นหัวใจของทุกเรื่องในประเทศนี้