ในความเหลื่อมล้ำก็มี นักเรียนยากจนที่เป็นช้างเผือก

ในความเหลื่อมล้ำก็มี นักเรียนยากจนที่เป็นช้างเผือก

“ความเหลื่อมล้ำ” ในระบบการศึกษาของไทยที่เขียนถึงในคอลัมน์เมื่อวานเป็นหัวข้อการศึกษาและวิจัยจากหลายสถาบัน

แต่ดูเหมือนว่าคนทำวิจัยก็ทำไป คนทำนโยบายการศึกษาก็ทำไป ไม่ได้มีความเชื่อมโยงหรือประสานกันเพื่อแก้ปัญหาระดับชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนแต่อย่างไร

 

ยิ่งหากนักการเมืองเข้ามาบริหารกระทรวงศึกษาในลักษณะที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วมีรัฐมนตรีศึกษา 9 เดือนต่อคน ก็ยิ่งหวังได้ยากว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ

 

งานวิจัยของ ดร. ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาคในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาบอกว่าเยาวชนไทยกว่ครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นนักเรียนยากจนจะทำคะแนน PISA ได้ไม่ดี ส่วนใหญ่ยังคงมีทักษะ “คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” ต่ำกว่ามาตรฐานที่มาตรฐานสากลกำหนดไว้

 

(อย่างที่อาจารย์สมเถา สุจริตกุล ปรมาจารย์ด้านดนตรีบอกผมว่าเยาวชนไทยเก่งมากเรื่องเทคนิคหรือ how ไม่แพ้ประเทศอื่นแต่พอถึงเรื่องวิเคราะห์เหตุและผลหรือตั้งคำถาม why ก็จะแพ้ประเทศอื่นทันที)

 

ความสามารถในการ “คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” นี่แหละที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21

 

ด้วยเหตุนี้เองไทยจึงถูกจัดลำดับอยู่ที่ 56 จาก 72 ประเทศที่เข้าสอบ

 

อาจารย์จึงสรุปว่าความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ทำให้เห็นภาพอนาคตที่น่าเป็นห่วง นั่นคือครึ่งหนึ่งของประชากรวัยแรงงานยัง “สอบตก” ในทักษะที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพอย่างมาก

 

ยิ่งพูดถึงเป้าหมายการสร้าง “ทุนมนุษย์” ให้เข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย

 

แต่ในปัญหาก็มีโอกาส หากอ่านบทวิจัยของ ดร. ภูมิศรัณย์ให้ละเอียด จะพบว่ายังมีเยาวชนที่เรียกว่ากลุ่ม resilient students ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีระดับเศรษฐกิจต่ำสุด 25% ของแต่ละประเทศ แต่สามารถทำคะแนนสอบได้เป็นกลุ่มสูงที่สุด 25% ของโลก

 

เด็กเหล่านี้มี resilience สูง อันหมายถึงความอดกลั้นบึกบึนและความกล้าเผชิญกับปัญหาและฝ่าข้ามอุปสรรคตัวตนเองในระดับสูง

 

บางคนเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า “ช้างเผือก” ซึ่งในความหมายไทยก็คงแปลว่าต้องไปตามหาในป่าให้เจอ เพราะช้างเผือกจะไม่เสนอตัวเอง ไม่รู้ว่ามีโอกาสอะไรรออยู่ข้างนอกสิ่งแวดล้อมของตนเอง

 

บทวิจัยนี้บอกว่าหากเยาวชนไทยกลุ่มที่ยากจนที่สุด 25% นี้มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมเทียบเท่าค่าเฉลี่ยทั่วไปของนักเรียนจากทั่วโลก จะทำให้ประเทศมีจำนวนเด็กกลุ่มช้างเผือกเพิ่มขึ้นเป็น 30,300 คนหรือ 18.4%

 

เด็กกลุ่มนี้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดได้เพราะแรงบันดาลใจและความสนใจและความสุขในการเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนในห้องเรียนเต็มที่แทนที่จะไปเรียนพิเศษ (เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินจ่าย) อีกทั้งยังเป็นเพราะครูมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกระตุ้นและให้กำลังใจ

 

แต่บทวิจัยนี้ก็มีความเป็นห่วงว่าเด็กเหล่านี้กว่า 63% มีความคาดหวังในอาชีพของตัวเองน้อย ผู้ปกครองขาดความเข้าใจในศักยภาพของลูกหลาน ทำให้ไม่มีโอกาสเรียนต่อหรือไม่ได้ศึกษาต่อในสาขาอาชีพที่ตนถนัด เท่ากับเป็นการสูญเสียคนเก่งที่มีศักยภาพไปเป็นจำนวนมาก

 

ดังนั้นหากจะแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ส่วนหนึ่งก็คือการที่ฝ่ายรัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันเพื่อ “ค้นหา” และ “พัฒนา” ช้างเผือกเหล่านี้เพื่อสร้าง “ทุนมนุษย์” ให้กับประเทศชาติในวันข้างหน้า

 

ที่น่าสนใจก็คือเด็กช้างเผือกเหล่านี้มักอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด 40% แรกของประเทศ

 

นี่กระมังคือสิ่งที่ท้าทายคณะกรรมการอิสระเพื่อพัฒนาการศึกษาที่เพิ่งตั้งขึ้นมาภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่

 

ท่านประธาน ศ. จรัส สุวรรณเวลาบอกว่าภารกิจนี้เกือบจะเป็น Mission Impossible แต่หากคนไทยทั้งมวลไม่พยายามทำให้สำเร็จประเทศไทยทั้งประเทศก็จะกลายเป็นเป็ดง่อยแห่งเอเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เพราะเพื่อนบ้านบางประเทศของเราเช่นเวียดนาม เมื่อเขาฟื้นจากสงครามยืดเยื้อยาวนานหลายสิบปีได้ เขาก็มุ่งแก้ปัญหาการศึกษาก่อนหลาย ๆ เรื่องจนแซงไทยไปในเรื่องการศึกษาแล้ว