จะช่วยเหลือให้เด็กไทยเรียนเก่งขึ้นได้อย่างไร

จะช่วยเหลือให้เด็กไทยเรียนเก่งขึ้นได้อย่างไร

สมองคนเราจะเรียนรู้ได้ดีขึ้น หากมีสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยการกระตุ้นที่หลากหลาย

ดังนั้น การส่งเสริมเรียนรู้แบบสัมผัสของจริง ฝึกปฏิบัติ ทัศนศึกษาดูงาน การใช้สื่อหลายทาง การสร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้แบบประสานทุกอย่างที่เอื้ออำนวย การฝึกการแก้ปัญหาที่เป็นจริง การทำโครงการ จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าแค่การให้ผู้เรียนนั่งฟังบรรยายและท่องจำตำรา

ส่วนต่างๆ ในสมองนั้นทำงานร่วมกันแบบประชาคม การเรียนรู้นั้นเกี่ยวข้องกับความพร้อมของสภาพทางกายภาพทุกส่วนของผู้เรียน เช่น การมีสุขภาพที่ดี มีวุฒิภาวะตามวัย มีความสะดวกสบายทางร่างกาย มีอารมณ์ดี และที่สำคัญที่สุดคือ การสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคม

การเรียนรู้เป็นกลุ่มแบบมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เช่น การเล่นเกม การอภิปราย การทำงานเป็นกลุ่ม ฯลฯ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าการเรียนรู้ด้วยตนเองเพียงคนเดียว หรือการมุ่งแข่งขันเอาชนะแบบตัวใครตัวมัน

สมองแสวงหาความหมายของสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ นั่นคือ คนเราอยากจะเข้าใจประสบการณ์ของตนเอง การเรียนการสอนจึงควรกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจในการหาความหมายของสิ่งต่างๆ ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องที่เรียนอย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประสบการณ์และชีวิตจริงของพวกเขา

การแสวงหาความหมายของผู้เรียนเกิดขึ้นโดยผ่านการจำแนกแยกแยะ จัดหมวดหมู่ความเข้าใจออกมาเป็นแบบแผนต่างๆ (Patterning) เชื่อมโยงกับประสบการณ์ หรือสิ่งที่เขาเข้าใจอยู่เดิม การเสนอข้อมูลให้ผู้เรียน จึงควรเสนอในบริบท (สภาพแวดล้อม) ใดบริบทหนึ่ง เช่น เสนอเรื่องวิทยาศาสตร์แบบง่ายๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถบ่งชี้แบบแผนของข้อมูลใหม่นั้นได้ และเข้าใจแบบเชื่อมต่อกับประสบการณ์เดิมของเขาได้

อารมณ์ของคนเรามีความสำคัญต่อกระบวนการจัดหมวดหมู่ความเข้าใจเป็นแบบแผนต่างๆ บรรยากาศที่เป็นมิตร มีอารมณ์ขัน ท้าทาย แต่ไม่ถึงกับกดดัน ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนตื่นตัวแบบผ่อนคลายตามธรรมชาติ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้น

บรรยากาศที่ทำให้ผู้เรียนกังวล เครียด หวั่นไหว ว่าจะถูกหัวเราะเยาะเย้ยหรือถูกลงโทษจะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ยาก นี่คือปัญหาที่สร้างโดยครูและผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย โดยที่พวกเขาเองก็มักจะไม่รู้ตัวและคิดไปเองแบบผิดๆ ว่าตัวเองกำลังจะทำให้ลูกศิษย์หรือลูกหลาน สนใจ/ตั้งใจเรียนมากขึ้น

ข้อมูลที่เชื่อมโยงผูกพันกับอารมณ์ความรู้สึก ช่วยให้สมองเราจำได้ดีและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดีกว่าข้อมูลแบบเรียบๆ ที่ไม่เชื่อมโยงผูกพันอารมณ์

สมองประมวลผลทั้งภาพรวม และส่วนย่อยต่างๆ ได้ การสอนแบบมุ่งให้เข้าใจภาพใหญ่ ก่อนจะไปถึงรายละเอียด จะช่วยการเรียนรู้ให้ดีขึ้น เช่น ให้ผู้เรียนเข้าใจก่อนว่าวิชานี้คืออะไร มีขอบเขตอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร มีวิธีการเรียนรู้อย่างไร แทนที่ครูหรือตำราจะไปบรรยายเนื้อหาสาระบทที่ 1 ของวิชานั้นๆ เลย โดยไม่เชื่อมโยงกับบริบท หรือตัวเนื้อหาที่เป็นภาพใหญ่

การเรียนรู้ เกี่ยวข้องกับกับการรู้จักเพ่งเล็งความสนใจไปยังจุดที่เฉพาะเจาะจง และการรับรู้ของประสาทสัมผัสต่างๆ อย่างรอบด้าน ดังนั้นการสร้างสื่อการเรียนรู้แบบต่างๆ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรับรู้หลายๆ ทาง ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและจำได้ดีขึ้น

ครูที่กระตือรือร้น และทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ช่วยให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของสิ่งที่กำลังเรียน ครูที่มีความตั้งใจอยากถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์อย่างมีพลัง จะช่วยให้เกิดการสนใจฟังและเรียนรู้ได้ดีกว่าครูที่สอนแบบเรียบๆ หรือเฉื่อยเนือย ครูควรได้รับการฝึกศิลปะในการพูดหรือการสื่อสารซึ่งรวมทั้งการแสดงออกทางร่างกาย ให้สามารถสื่อเนื้อหาสาระไปถึงผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

คนเรามีความจำ 2 แบบ คือ ความจำที่เชื่อมโยงกับขนาดรูปร่าง และตำแหน่งของสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นความจำแบบเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีความหมายอยู่เดิม และความจำแบบท่องจำแยกเป็นส่วนๆ หรือท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง การศึกษาของไทยที่ล้าหลังมีประสิทธิภาพต่ำ เพราะครูและคนออกข้อสอบเน้นการท่องจำแบบหลังนี้ เมื่อนักปฏิรูปการศึกษาเสนอว่า ครูควรเลิกวิธีการสอนแบบท่องจำ หมายถึงการท่องจำแบบนี้ ไม่ได้แปลว่าจะเลิกให้นักเรียนฝึกการจำในทุกเรื่อง เพราะการจำแบบแรก รวมทั้งการจำเรื่องที่เป็นรากฐาน เช่น สูตรคูณ คำศัพท์ สูตรคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น

การสอนข้อมูลและทักษะ ต้องให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับประสบการณ์เดิมของผู้เรียน เขาถึงจะเข้าใจและจำได้ดี และนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ ความจำแบบท่องจำแยกส่วนซึ่งเป็นวิธีการที่ครูส่วนใหญ่ชอบสอน มักจะจำได้ยาก และนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อยกว่าความจำแบบเชื่อมโยง

การเรียนรู้ เป็นพัฒนาการอย่างมีขั้นตอนตามลำดับ เราจะเข้าใจได้ดีที่สุด เมื่อข้อเท็จจริงเข้าไปแฝงฝังอยู่ในความจำที่เชื่อมโยงกับขนาด รูปร่าง ตำแหน่งของสิ่งต่างๆ และความจำด้านอื่นๆ อย่างสอดคล้องกับประสบการณ์หรือข้อมูลเดิมของเรา

ปัญหาของนักเรียนที่เรียนไม่เก่งส่วนหนึ่ง คือ ไม่เข้าใจตั้งแต่ต้น จึงเรียนตอนต่อๆ ไปไม่เข้าใจ และครูในชั้นเรียนมักจะสอนแบบเดินหน้าไปโดยไม่มีการหยุดช่วยคนที่ไม่เข้าใจตามไม่ทัน สำหรับผู้เรียนที่ตามเพื่อนไม่ทัน ต้องหาคนช่วยสอน เพื่อช่วยให้ตัวเองตามเพื่อนๆ ทัน โรงเรียนที่ดีควรมีระบบช่วยสอนเด็กที่เรียนอ่อน หรือจัดห้องเรียนที่เล็กลง แบ่งเด็กที่เรียนได้เร็วช้าใกล้ๆ กันให้อยู่ห้องเดียวกัน ติดตามพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคล

พ่อแม่ที่ดีต้องพยายามเข้าใจปัญหาการเรียนรู้ลูก และช่วยให้ถูกวิธี พ่อแม่ที่เน้นการแข่งขันในยุคปัจจุบันมักจะเครียดถ้าลูกเรียนได้ช้า ไม่ทันเพื่อน และพยายามจะหาทางเร่งการเรียนของลูก พ่อแม่ที่ไม่เข้าใจจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็ก อาจซ้ำเติม ทำร้ายเด็กให้เครียดมากขึ้น การเครียดมากไม่ช่วยการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

(วิทยากร เชียงกูล. การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ. สายธาร, 2549)