บันทึกข้อมูลดิจิทัลด้วย"ดีเอ็นเอ"ของสิ่งมีชีวิต

บันทึกข้อมูลดิจิทัลด้วย"ดีเอ็นเอ"ของสิ่งมีชีวิต

ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมงาน “สตาร์ทอัพไทยแลนด์” อีกครั้งหนึ่ง

นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่ ได้นำเสนอรูปแบบของธุรกิจและบริการใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาให้อุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจของไทยได้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัด คือกว่าครึ่งหนึ่งของสตาร์ทอัพที่มานำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของธุรกิจและบริการ ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากยุคดิจิทัลอย่างที่แยกกันไม่ขาด โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและบริการ ที่ยังคงอยู่ในยุคของ ไทยแลนด์ 1.0 เพื่อให้เข้าสู่ยุค 4.0 ได้อย่างรวดเร็ว

เป็นเรื่องที่น่าประทับใจ ที่สตาร์ทอัพเป็นจำนวนมาก กลับได้เสนอเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคของการเกษตร ซึ่งเป็นภาคส่วนของประเทศ ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเป็นบริบทของ “ปลาเร็วกินปลาช้า” ในขณะที่เรากำลังชื่นชมและยินดีกับการที่คนรุ่นใหม่ของประเทศ ได้มาสร้างสรรค์ธุรกิจและบริการ ที่ประยุกต์มาจากการพัฒนาและเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เราอาจจำเป็นต้องยอมรับความจริงก่อนเสียว่า เมื่อเปรียบเทียบกับนานาอารยประเทศแล้ว สตาร์ทอัพจำนวนมากของไทย ได้เข้าสู่ตลาดในระยะที่เอสเคิร์ฟที่เรียกกันว่าดิจิทัลนั้น ได้เข้าสู่ระยะที่เริ่มอิ่มตัวแล้ว

หนึ่งใน เอสเคิร์ฟใหม่ ที่จะเป็นนวัตกรรมที่ผสมผสาน ระหว่าง ไบโอเทค และ เทคโนโลยีดิจิทัล คือการบันทึกข้อมูลดิจิทัลด้วย “ดีเอ็นเอ”ของสิ่งมีทีชีวิต

ล่าสุดกลุ่มนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้สาธิตการบันทึกภาพยนต์สั้น ที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ลงในดีเอ็นเอของ แบคทีเรีย ที่เรียกว่า อี.โคไล

กระบวนการดังกล่าว อาศัยนวัตกรรม CRISPR ซึ่งเป็นเทคนิคของการแก้ไขข้อมูลพันธุกรรม ที่บันทึกไว้ในดีเอ็นเอของสิ่งที่มีชีวิต ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเริ่มต้นถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักวิจัยราว 4 ปีที่ผ่านมา โดยที่ก่อนหน้านี้ CRISPR จะถูกประยุกต์ใช้เพื่อวิจัยการรักษาโรคที่มีผลกับข้อมูลพันธุกรรม

แต่ปฏิบัติการของนักวิจัยที่ฮาวาร์ด กลับเป็นครั้งแรกๆ ที่ได้นำข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลพันธุกรรมมาบันทึกไว้ในดีเอ็นเอของสิ่งที่มีชีวิต

แน่นอน เนื่องจาก อี.โคไล เป็นจุลชีพขนาดเล็ก ดีเอ็นเอจึงบันทึกข้อมูลได้ไม่มาก แต่หากเป็นสัตว์ประเสริฐเช่นมนุษย์ ย่อมต้องบันทึกข้อมูลได้อย่างสลับซับซ้อนและหนาแน่นยิ่งกว่า

อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของมนุษย์ คือแต่ละเซลล์ สามารถบันทึกข้อมูลอยู่ในดีเอ็นเอได้เพียง 1.5 กิกะไบต์ หรือเทียบเท่ากับภาพยนตร์ 2 ชั่วโมงเพียงเรื่องเดียว แต่ถึงกระนั้นมนุษย์มีอยู่ราว 100 ล้านล้านเซลล์ จึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการข้อมูลดีเอ็นเอระหว่างเซลล์

วิธีการดังกล่าว เมื่อพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้มนุษย์สามารถบันทึกข้อมูลที่่สำคัญไว้กับดีเอ็นเอของตัวเอง ทั้งยังสามารถสืบสันดานต่อ ถึงชั่วลูกชั่วหลาน ไว้เป็นเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูล

สิ่งที่น่าสะพรึงกลัว คือการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งมีชีวิตกับโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง ต่อไปอาจไม่ต้องอาศัย สมาร์ทโฟน หูฟัง หรือแว่นตา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีความจริงเสริม แต่ข้อเท็จจริง ที่หลายคนอาจลืมไป คือข้อมูลพันธุกรรม ที่อยู่ในดีเอ็นเอของพวกเราทุกคน ล้วนเป็นข้อมูลดิจิทัลอยู่แล้ว

ดีเอ็นเอรวมทั้งระบบต่างๆ ในเซลล์ของพวกเรา ไม่เพียงแต่สามารถบันทึกข้อมูลในระบบดิจิทัล แต่ยังสามารถประมวลผลข้อมูลดิจิทัล จนกระทั่งสามารถกำหนดรูปลักษณะจนกระทั่งชะตาชีวิตของทุกคนในโลก

นี่คงเป็นนวัตกรรมสุดท้าย ของมนุษยชาติ เมื่อมนุษย์สามารถโปรแกรมข้อมูลพันธุกรรมของตัวเอง ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้ อะไรที่จะมาหลังจากนี้ ก็คงไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว