วิวัฒนาการ ‘วิทยาศาสตร์ทางข้อมูล’ในไทย

วิวัฒนาการ ‘วิทยาศาสตร์ทางข้อมูล’ในไทย

ถ้าพูดถึงเทรนด์ในการนำข้อมูล(Data) มาวิเคราะห์และประกอบการตัดสินใจด้านต่างๆในปัจจุบัน ถือว่ามีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จากที่ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางข้อมูล (Data Science) ที่นำไปประยุกต์ใช้หลากหลายแขนงแล้วนั้น การพัฒนาต่อยอดในการวิเคราะห์ชั้นสูงหรืองานที่มีความซับซ้อน ดังเช่น การสร้างปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) หรือการสอนให้คอมพิวเตอร์สามารถคิดคำนวณจนสามารถเรียนรู้สมการทางคณิตและสถิติที่ซับซ้อนมากจนกระทั่งสามารถแยกแยะความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรและตัดสินใจหาผลลัพธ์ที่ถูกต้องที่สุดได้ ที่นิยมเรียกกันในระดับสากลว่า แมชชีน เลินนิ่ง (Machine Learning)

อย่างไรก็ดีพื้นฐานความรู้ที่จะสร้างสรรค์เทคโนโลยีดังกล่าวนั้น นอกจากพื้นฐานทางภาษาคอมพิวเตอร์ (Computer programming language) ในระดับสูงแล้วความรู้ทางด้านสถิติ ถือเป็นปัจจัยสำคัญมากในการพัฒนาหรือต่อยอดเทคโนโลยีทางด้านนี้ 

ศาสตร์ทางด้านสถิติยังเป็นพื้นฐานสำคัญในวิทยาศาสตร์ทางข้อมูล ดังที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนหน้านี้

อาจจะมีน้อยคนที่รู้ว่าความรู้ทางด้านสถิตินี้ในประเทศไทยเอง ถ้านับจากปัจจุบันย้อนไปเป็นเวลาราวๆ 50 ปีกว่าที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นความโชคดีของประชาชนชาวไทยที่มีพระมหากษัตริย์ผู้มีสายพระเนตรอันยาวไกลและทรงเล็งเห็นความสำคัญของวิชาสถิติในห่วงเวลาดังกล่าวนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระทัยในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นพิเศษ เมื่อราว พ.ศ. 2503 ได้ทรงปรารภกับ นายเดวิด รอกกิเฟลเลอร์ ถึงเรื่องที่จะปรับปรุงการสถิติของชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศในเวลานั้น

ในที่สุดได้มีการจัดทำโครงการเสนอรัฐบาล โดยต่อมารัฐบาลในสมัยนั้นได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาจัดตั้งสถาบันสอนวิชาการบริหารเกี่ยว กับการพัฒนาประเทศ โดยได้นำมติของที่ประชุมคณะกรรมการต่อคณะรัฐมนตรีว่าควรจะตั้ง สถาบันพัฒนาการบริหาร (Institute of Development Administration) โดยดำเนินการสอนในขั้นปริญญาโทและเอก การศึกษาฝึกอบรมและการวิจัย ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA (National Institute of Development Administration) ในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นสถาบันที่ให้ความรู้ทางด้านสถิติในระดับสูงของประเทศไทยในเวลานั้นตลอดจนถึงปัจจุบัน

จะเห็นว่าพระอัจฉริยะภาพที่ทรงเห็นความสำคัญของวิชาสถิติมาอย่างยาวนาน โดยทรงมีความมุ่งพระทัยในการนำความรู้ทางสถิติเพื่อใช้ในการพัฒนาและประเมินโครงการในพระราชดำริอีกด้วย ดังพระบรมราโชวาทในงานพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 1 ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ วันที่ 19 พ.ย. 2519 ตอนหนึ่งความว่า

“…เดิมทีเดียว ข้าพเจ้าตั้งข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศไว้ว่า ในการทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจต่าง ๆ จะต้องอาศัยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก และจะต้องใช้นักสถิติที่มีความรู้ความสามารถชั้นสูงเป็นผู้ปฏิบัติ…”

โดยในโครงการพระราชดำริอาศัยการเก็บข้อมูลการดำเนินการและนำมาประมวลผลทางสถิติเพื่อพัฒนาหาสาระสำคัญของข้อมูล ผลลัพธ์และแนวทางในการพัฒนาโครงการพระราชดำริต่างๆ นับเป็นความโชคดีของประชาชนชาวไทย ที่พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล ที่ได้เล็งเห็นความรู้และความสำคัญในวิชาสถิติหรือการใช้วิทยาศาสตร์ทางข้อมูลมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ก่อนที่วิชาแขนงนี้ได้รับความนิยมกันมากในปัจจุบันและในระดับสากลเลยทีเดียว