พลิกโลกธุรกิจด้วยบล็อกเชน (Blockchain)

พลิกโลกธุรกิจด้วยบล็อกเชน (Blockchain)

พลิกโลกธุรกิจด้วยบล็อกเชน (Blockchain)

สวัสดีครับสมาชิกและผู้อ่านกรุงเทพธุรกิจ

ทุกวันนี้เมื่อเปิดหนังสือพิมพ์หรือไล่อ่านเพจไหนในโลกโซเชียลก็ต้องพบคำว่าบล็อกเชน (Blockchain) ขึ้นมาทักทายกันอยู่บ่อยครั้ง ยิ่งในแวดวงการเงินการธนาคารหลายๆ องค์กรต่างเร่งผลักดันพัฒนาเทคโนโลยีนี้กันอย่างต่อเนื่อง วันนี้จึงอยากจะย้อนกลับมาทำความเข้าใจบล็อกเชนให้ดีขึ้น ด้วยการอธิบายด้วยภาษาง่ายๆ ครับ

‘บล็อกเชน’ มาจากว่าบล็อก (Block) ซึ่งคือกล่องที่บันทึกข้อมูลบางอย่างเอาไว้ กล่องนั้นอาจจะเป็นข้อมูลของนาย A หรือองค์กร A ซึ่งถ้ากล่องของนาย A อยู่เดี่ยวๆ ตามลำพังคงไม่เกิดประโยชน์ แต่หากสามารถเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายขนาดใหญ่ก็จะทำให้เกิดประโยชน์และอำนวยความสะดวกได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเครือข่ายที่เชื่อมโยงกล่องหลายๆ กล่องเข้าด้วยกันก็คือเชน (Chain) อย่างไรก็ดี การจะรับกล่องของใครเข้ามาในเชนก็ต้องมีเงื่อนไขกติกากันเสียหน่อย อย่างเช่น เชนนี้สร้างขึ้นเพื่อธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ ในเชนนั้นจะมีข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ที่ดิน หรือโฉนด เป็นต้น ซึ่งจะแสดงสิทธิการครอบครองทำให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องก่อนการซื้อขายหรือโอนที่ดินได้

บล็อกเชนถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ใด? คำตอบง่ายๆ คือ เพื่อเป็น “ระบบการจัดเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่ง” ความพิเศษคือทุกครั้งที่ไม่ว่าใครในเชนทำธุรกรรมอะไร ทุกคนจะรับทราบและรับรู้ข้อมูลเท่าๆ กันหมด (Decentralized) เหมือนอยู่ในกลุ่มไลน์กรุ๊ปเดียวกัน ใครทำอะไรก็บอกกันมาในกลุ่ม ทุกคนรู้เท่าๆ กัน ไม่มีศูนย์กลางข้อมูลที่คนใดคนหนึ่ง ทุกคนมี Chat History เหมือนๆ กัน เพียงแต่ในบล็อกเชนเราเรียก Chat History นั้นว่า Ledger ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เวลามีคนพูดถึงบล็อกเชนก็จะมีคนพูดถึง Distributed Ledger ด้วย หลักการสำคัญคือการที่ทุกคนมี Ledger ที่เหมือนกัน หรือภาษาเทคโนโลยีจะใช้คำว่า Synchronize กัน และข้อมูลอะไรก็ตามที่ใส่ลงไปในบล็อกเชนแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือดัดแปลงได้ (Immutable) นี่คือหลักการพื้นฐานง่ายๆ และคุณสมบัติที่สำคัญของบล็อกเชน

ในต่างประเทศเราจะเริ่มเห็นกรมที่ดินใช้บล็อกเชนในการลงทะเบียนเอกสารสิทธิ์ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นใครจะมาดูว่าที่ดินผืนนี้กรรมสิทธิ์เป็นของใคร มีการโอนที่ดินเปลี่ยนถ่ายมือมาแล้วกี่ทอด อย่างไรบ้าง ก็เข้าไปตรวจสอบข้อมูลกันในระบบนี้ ในส่วนของระบบการเงินไทย แบงก์ชาติได้มีการอนุมัติให้ทดสอบเทคโนโลยีใน Regulatory sandbox หรือสนามทดสอบด้านเทคโนโลยี โดยให้สถาบันการเงินเข้ามาทดลองใช้เทคโนโลยีที่ต้องการ ภายใต้สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจจริง แต่อยู่ในขอบเขตที่จำกัด ซึ่งจะต้องทำการทดลองใช้จนเห็นผลดีผลเสียให้ชัดเจนก่อนแล้วจึงนำมาพัฒนาต่อยอดกันต่อไป นี่เป็นอีกก้าวที่สำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนในไทย เราจึงได้เห็นว่ามีธนาคารที่กำลังศึกษาเรื่องการโอนเงินข้ามประเทศโดยใช้บล็อกเชน ทำให้ธุรกรรมการโอนเงินทุกอย่างเกิดขึ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที จากเดิมที่เคยใช้เวลาเป็นวันๆ ด้วยต้นทุนทางการเงินที่ลดลงอย่างมาก

ความน่าสนใจของเทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีอีกมากมาย ถ้ามีโอกาสจะหยิบยกมาเล่าให้ฟังกันใหม่นะครับ