อันเนื่องมาจากเรื่องของหนู

อันเนื่องมาจากเรื่องของหนู

ช่วงนี้เป็นโอกาสครบรอบ 70 ปีของการเริ่มโครงการศึกษาพฤติกรรมของหนู โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์

 ผลของการศึกษาเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันอย่างเข้มข้นอยู่นาน แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การโต้เถียงกันเงียบลง ทั้งนี้คงเพราะการเสียชีวิตของเจ้าของโครงการชื่อจอห์น แคลฮูน โครงการเริ่มด้วยการปล่อยหนูเข้าไปอยู่ในสนามขนาดใหญ่กว่า 200 ตารางวา เพื่อดูว่าหนูจะอยู่ได้กี่ตัวและพฤติกรรมของหนูจะเป็นอย่างไรเมื่อจำนวนหนูเพิ่มขึ้น ต่อมาโครงการลดพื้นที่ลงโดยการสร้างกรงขนาดใหญ่ขึ้น ในห้องปฏิบัติการซึ่งออกแบบให้เป็นเสมือนห้องชุด หรือคอนโดมีเนียมทำให้ง่ายต่อการศึกษา

ข้อสรุปหลักของโครงการที่นำไปสู่การโต้เถียงกันอย่างเข้มข้นได้แก่ เมื่อจำนวนหนูเพิ่มขึ้นจนเกิดความแออัดและอาหารขาดแคลน พฤติกรรมของหนูเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนส่วนใหญ่เป็นไปในทางเลวร้าย ทั้งในด้านการใช้ความรุนแรงของหนูบางกลุ่ม และด้านการเดินตามวัตถุไปแบบไร้จุดหมายของบางกลุ่ม ในขณะเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านดีอยู่บ้าง อาทิเช่น หนูบางตัวแก้ปัญหาความแออัดด้วยการสร้างโพรงแบบใหม่ แต่โดยรวม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นนำไปสู่ความล่มสลายของสังคมหนู ข้อสรุปนี้ทำให้มีการมองว่าสังคมมนุษย์จะล่มสลายหากจำนวนประชากรยังเพิ่มขึ้นต่อไป ในช่วงนั้นตรงกับเหตุการณ์สองอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2511 ซึ่งเปรียบเสมือนน้ำมัน 2 ถังราดลงบนกองไฟของการโต้เถียงกัน นั่นคือ การพิมพ์หนังสือเรื่อง The Population Bomb และการเผยแพร่แนวคิดใหม่เรื่อง Green Revolution

หนังสือเป็นผลการศึกษาที่บ่งชี้ว่าปัญหาสาหัสถึงขั้นล่มสลายจะเกิดกับสังคมมนุษย์ หากจำนวนประชากรไม่หยุดเพิ่มขึ้น ฉะนั้น จำเป็นต้องคุมกำเนิด ส่วนด้านแนวคิดใหม่นั้นเป็นผลของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เอื้อให้การผลิตพืชอาหารเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ความก้าวหน้านั้นเป็นฐานของความเชื่อที่ว่า เทคโนโลยีจะแก้ปัญหาสารพัดของมนุษย์ได้ ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิด ฝ่ายนี้ได้รับการสนับสนุนจากบางศาสนา และการอ้างถึงมหาบุรุษมหาตมะ คานธีซึ่งเคยพูดว่า โลกมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับสนองความจำเป็นของมนุษย์ทุกคน แต่ไม่พอสำหรับสนองความโลภ

เมื่อมหาตมะ คานธีพูดนั้น โลกมีประชากรราว 2.5 พันล้านคน และเมื่อปี 2511 โลกมีประชากรราว 3.5 พันล้านคน ณ วันนี้โลกมีประชากรเกิน 7.5 พันล้านคนและยังเพิ่มขึ้น หากมหาตมะ คานธียังมีชีวิตอยู่ ท่านจะยังยืนยันความเห็นของท่านหรือไม่ยากที่จะเดา ท่านอาจเห็นคล้อยตามผลการศึกษาที่จะสรุปว่า ทรัพยากรโลกมีเพียงพอสำหรับสนองความจำเป็นของประชากรไม่เกิน 4 พันล้านคน ฉะนั้น การอ้างความเห็นของท่านตั้งแต่ครั้งโลกยังมีประชากรราวหนึ่งในสามของปัจจุบันเป็นการพูดแทนท่านซึ่งไม่น่าจะเหมาะสม ส่วนการอ้างว่าเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาได้สารพัดนั้นขาดหลักฐาน หากมองจากความอดอยากแสนสาหัสของชาวโลกจำนวนมากในปัจจุบัน และการสู้รบเพื่อชิงทรัพยากรกันในย่านตะวันออกกลาง นอกจากนั้น การอ้างอานุภาพของเทคโนโลยีมักมองเฉพาะในด้านดีของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ลืมไปว่าเทคโนโลยีมักมีคำสาปแฝงมาด้วยซึ่งคอลัมน์นี้พูดถึงหลายครั้งแล้ว

เรื่องการสู้รบกันในย่านตะวันออกกลาง มักมีผู้มองว่าเป็นความขัดแย้งทางศาสนาซึ่งต่อเนื่องมาจากยุคสงครามครูเสด แต่นั่นเป็นการมองแคบเกินไป เพราะประวัติศาสตร์บ่งว่าการสู้รบกันเกิดขึ้นต่อเนื่องมานาน ก่อนที่จะเกิดศาสนาใหญ่ ๆ ในย่านนั้นและการสู้รบกันในปัจจุบัน เกิดจากผู้อยู่ในศาสนาเดียวกันไม่น้อยกว่าระหว่างต่างศาสนา สาเหตุพื้นฐานของการสู้รบกันทั้งเมื่อหลายพันปีก่อน และในปัจจุบันคือการแย่งชิงทรัพยากรรวมทั้งแหล่งน้ำจืดและน้ำมันปิโตรเลียม

ทั้งหลายทั้งปวงนี้คงบ่งชี้ว่า หลักความพอประมาณในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นทางออกของโลกปัจจุบันนั้น จะต้องนำมาใช้ทั้งในด้านการจำกัดการใช้ทรัพยากรของแต่ละคน ให้อยู่บนฐานของความจำเป็นและในด้านการจำกัดขนาดของครอบครัวโดยมิทำให้จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นต่อไป ตรงข้าม ควรทำให้จำนวนประชากรลดลง การลดลงคงเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ถ้าคู่สามีภรรยามีทายาทไม่เกิน คนและอาจไม่จำเป็นต้องลดลงมาถึง 4 พันล้านคน เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น