'เอสเอ็มอี' เมื่อไหร่ จะหายเจ็บหนัก

'เอสเอ็มอี' เมื่อไหร่  จะหายเจ็บหนัก

สภาพเศรษฐกิจไทยและโลก ที่ยังไม่ฟื้นตัวดี แพะที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบอยู่เสมอไป

 คือ ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ฐานที่เป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ (กว่า 90%) ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ แม้ว่ารัฐจะมองเห็นปัญหานี้ และพยายามที่จะหามาตรการประคับประคองธุรกิจมาโดยตลอด โดยเฉพาะการให้สถาบันการเงินของรัฐ ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงินรวมหลายหมื่นล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา

ทว่า จนแล้วจนรอดภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีก็ยังไม่ดีขึ้นสมใจรัฐบาล โดยปัญหาหลักที่พวกเขาเผชิญคือการ “เข้าถึงแหล่งทุน” ล่าสุดในการประชุมมาตรการสนับสนุนด้านการเงินแก่เอสเอ็มอี ซึ่งมีกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม มีแนวทางที่จะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อต่อวงเงินกู้มากขึ้น โดยอาจจะมีสัดส่วนมากถึง 30%(เกือบ1ใน3) ของวงเงินกู้ เพื่อเข็นให้เอสเอ็มอีฟื้นตัวเป็นหนึ่งในฟันเฟืองเคลื่อนเศรษฐกิจให้ได้ในเร็ววัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน ถือเป็นปัญหาคลาสสิกของเอสเอ็มอี ที่ต้องย้อนกลับไปถามเอสเอ็มอีอย่างจริงๆจังๆเช่นกันว่า ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีในภาพรวมได้พยายามช่วยเหลือตัวเองมากน้อยแค่ไหน มีบางธุรกิจเอสเอ็มอีเช่นกัน ที่สามารถเอาตัวรอดในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จนมีรายได้ สินทรัพย์เพียงพอมาค้ำประกันวงเงินกู้เพื่อการขยายธุรกิจ 

แต่ก็มีเอสเอ็มอีอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน ที่ทำท่าจะไม่รอดจากสถานการณ์เช่นนี้ ความต่างของเอสเอ็มอีทั้งสองประเภทที่ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ต่างกัน คือ ฟากหนึ่งมีความสามารถในการปรับตัว ขณะที่อีกฟากหนึ่งไม่มีความสามารถไม่ปรับตัวเท่าที่ควร อาทิ เอสเอ็มอีจำนวนมากยังคงเคลื่อนธุรกิจด้วยแรงงานต่างด้าว แถมไม่ขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้อง สะท้อนว่าธุรกิจเหล่านั้นยังคงอาศัยแรงงานราคาถูก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน แทนการสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต

ขณะที่สินค้าหรือบริการ ยังอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับการพัฒนาช่องทางในการขาย ที่ปัจจุบันเริ่มขยับมาสู่ การตลาดออนไลน์ มาเป็นส่วนผสมกับหน้าร้านการค้าในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งเชื่อว่าหากเอสเอ็มอี ที่เริ่มเปลี่ยนผ่านจากคนรุ่นบุกเบิก สู่ทายาทหรือผู้บริหารรุ่นใหม่ หากมีแนวคิดการผลิต การตลาด ที่ปรับไปตามบริบทธุรกิจที่เปลี่ยนไปแล้ว ความอยู่รอดก็น่าจะออกมายืนทักทายความพยายามปรับตัวนี้ไม่มากก็น้อย 

ถึงเวลาแล้ว ที่เอสเอ็มอีที่ยังไม่ปรับตัว จะลุกขึ้นมา“ปฏิวัติ” ธุรกิจตัวเองเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน โหนกระแสความช่วยเหลือมากมายที่รัฐระดมจัดให้ ทั้งการทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน  พร้อมไปกับหลายมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน เช่น การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีในทุกกลุ่ม ทั้ง สตาร์ทอัพ สปริงอัพ และสเต็ปอัพ รวมถึงกลุ่มที่มีศักยภาพขยายตลาดสู่ต่างประเทศ และกลุ่มที่ต้องการฟื้นฟูกิจการ (เทริ์น อะราวด์) พลิกธุรกิจเถ้าแก่เอสเอ็มอี สู่ สมาร์ทเอสเอ็มอี ส่วนรายที่ปรับตัวไม่ได้ ขาดผู้สานต่อกิจการที่มีหัวคิดก้าวหน้า ก็ถึงเวลาต้องยอมรับความเป็นจริงของโลก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป