เมื่อจีนกับอินเดีย เกิดเหยียบเท้ากันตรงชายแดน

เมื่อจีนกับอินเดีย เกิดเหยียบเท้ากันตรงชายแดน

ผมเป็นคนที่เชื่อในศักยภาพของ Chindia (China + India) ในการสร้างพลังร่วมของเอเชีย เพื่อต่อรองกับโลกตะวันตก

แต่เมื่อทั้งสองประเทศต่างก็ใหญ่ และมีประวัติศาสตร์แห่งศักดิ์ศรีของตน ความขัดแย้งย่อมเป็นเรื่องหลีกหนีไม่ได้

ล่าสุด อินเดียกับจีนมีเหตุต้องเผชิญหน้ากัน ณ จุดชายแดนทำให้แต่ละฝ่ายส่งทหารไปประชิดพรมแดน ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งถอยไป

แต่ไม่มีใครยอมถอย

จีนกับอินเดียมีชายแดนร่วมกันกว่า 3,500 กิโลเมตร ความระหองระแหงจึงหลีกเลี่ยงได้ยาก และเป็นเช่นนี้มาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของทั้งสองชาติ

ประเด็นขัดแย้งล่าสุดเกิดจากที่จีนขยายถนนตรงชายแดน ผ่านเข้าไปในที่ราบสูงที่เชื่อมต่อระหว่าง Doklam ของอินเดียและ Donglang ของจีน

ไม่แต่เท่านั้น ความระหองระแหงนี้ยังไปพัวพันกับประเทศที่สามคือภูฐานด้วย

เพราะที่ราบสูงแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงจุดพบกันระหว่างจีน รัฐสิขขิมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและภูฐาน

จีนกับภูฐานมีข้อพิพาทกันเรื่องดินแดนตรงนี้ และอินเดียกระโดดเข้าข้างภูฐาน

จึงกลายเป็นเรื่องระหว่างคู่ใหญ่อีกรอบหนึ่ง

อินเดียกลัวว่าถ้าจีนทำถนนสายนี้เสร็จ จะทำให้ปักกิ่งเจาะผ่านเข้าไปที่ บริเวณ “คอไก่” (chicken’s neck) ซึ่งก็คือระเบียงกว้างประมาณ 20 กิโลเมตรที่เชื่อมรัฐทั้ง 7 ทางตะวันออกเฉียงเหนือกับแผ่นดินใหญ่อินเดีย

อินเดียไม่ต้องการให้จีนประชิดเข้ามาใกล้ตัวขนาดนั้นเพราะเป็นประเด็นเรื่องความมั่นคงที่ยอมไม่ได้

ทหารอินเดียเข้าไประงับการก่อสร้างของคนงานจีน ทำให้ทหารจีนรุดมาที่เกิดเหตุ ถึงขั้นทำลายบังเกอร์สองแห่งใกล้กับจุดตั้งทหารชายแดน

แม้จะไม่มีการยิงปืนใส่กัน แต่ทหารอินเดียก็เรียงแถวเป็นกำแพงเพื่อสกัดไม่ให้ทหารจีนรุกเข้ามา

จีนโต้ว่ายามชายแดนอินเดียได้พยายามขัดขวาง “กิจกรรมปกติ” ทางฝั่งของจีน และเรียกร้องให้ทหารอินเดียถอยร่นออกไปเสีย มิฉะนั้นจะทำให้เกิดเรื่องขัดแย้งมากกว่าเดิม

การเผชิญหน้าอย่างนี้ฝรั่งเรียก stand-off ยิ่งเมื่อมีรายงานในสื่อของอินเดียว่าเป็น “eyeball-to-eyeball stand-off” ก็ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วง

เพราะแค่ stand-off ก็คือการยืนเผชิญหน้ากันแล้ว ยิ่งถ้าบอกว่าเป็นประชิดกันถึงระดับ “ลูกตาต่อลูกตา” ด้วยแล้วก็ยิ่งจะทำให้หวาดเสียว เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดทำอะไรบุ่มบ่ามขึ้นมา อาจนำไปสู่การแลกหมัดหรือยิงใส่กันได้

หากดูแผนที่ให้ละเอียด จะเห็นว่าสิขขิมมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับอินเดียมาก เพราะเป็นจุดเดียวที่อินเดียจะสามารถจะตอบโต้จีนหากมีการล้ำแดนเข้ามา

สิขขิมเป็นจุดเดียวในเทือกเขาหิมาลัย ที่ทหารอินเดียอ้างความได้เปรียบทางภูมิยุทธศาสตร์ต่อจีนได้ เพราะตั้งอยู่ในระดับสูงกว่าและทหารจีน ที่ประจำอยู่ตรงนั้นถูกบีบระหว่างอินเดียกับภูฐาน ไม่อาจจะเคลื่อนตัวได้คล่องแคล่วเหมือนทหารอินเดีย

 ดังนั้นอย่างไรเสียอินเดียก็จะไม่ยอมให้จีนแทรกตัวเข้ามาในบริเวณนั้น

สงครามใหญ่ระหว่างจีนกับอินเดียครั้งล่าสุดเกิดเมื่อปี 1962 ซึ่งจีนอ้างว่าได้ชัยชนะเหนือเพื่อนบ้านยักษ์

ปักกิ่งส่งคำเตือนไปยังนิวเดลฮีด้วยว่าวันนี้ศักยภาพของจีนในด้านต่าง ๆ ก็แข็งแกร่งกว่าเมื่อปี 1962 อย่างมาก

พอจะเข้าใจหรือยังครับว่าทำไมอินเดียจึงไม่ค่อยจะปลื้มกับ One Belt, One Road ของจีน?