36 อรหันต์ กับ ความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า

36 อรหันต์ กับ ความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า

ความจริงผมมีเรื่องอื่นๆ ที่อยากเขียนสะท้อนปัญหาสังคมอยู่หลายเรื่อง แต่เมื่อได้รับโอกาสจากท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแต่งตั้งให้เป็น “กรรมการปฎิรูปตำรวจ” จึงมีงานที่เร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ในกรอบเวลาที่กำหนดตามกฎหมาย ส่วนจะต้องขยายในเรื่องหนึ่งเรื่องใดหรือทำอะไรต่อจากนั้นค่อยว่ากัน

วันแรกที่มีรายชื่อประกาศออกมา ได้รับทั้งโทรศัพท์และการติดต่อในทุกรูปแบบถูกตั้งคำถามต่างๆ นานา บ้างเรียกพวกเราเป็น “อรหันต์” ยินดีกับเราก็มากให้ร้ายหรือปรามาสพวกเราก็มี นั่นไม่เป็นปัญหาสำหรับการเดินหน้า “ปฎิรูปประเทศ” เพราะเมื่อรับที่จะเข้ามาทำหน้าที่สำคัญของบ้านเมืองแล้ว ทราบดีว่าย่อมมีเสียงสะท้อนเข้ามาไม่ต่างกับที่รัฐบาลต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะบุคคลสาธารณะ

ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความกรุณากับพวกเราอย่างยิ่ง ทั้งการให้ความเชื่อมั่นและกำลังใจรวมทั้งได้กล่าวชัดเจนว่า สิ่งที่ท่านกล่าวในที่ประชุมก็ดี ที่มอบหมายผ่านเอกสารที่เขียนด้วยลายมือในสิ่งที่ท่านรับรู้และศึกษามาก็ดี มิใช่การกดดันกรรมการว่าจะต้องเดินไปตามสิ่งที่ท่านเห็น ทุกคนมีอิสระและ รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง เว้นแต่มีสิ่งใดในทางธุรการหรือการบริหารราชการแผ่นดินที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการปฎิรูปองค์กรตำรวจและบุคลากรในทางหนึ่งทางใด ท่านนายกรัฐมนตรีและ ครม พร้อมที่จะช่วยผลักดัน

ผมเองกับอีกหลายท่านเห็นตรงกันว่า เวลาที่เรามีอยู่อย่างจำกัด เราจะเลือกสิ่งที่เป็นปัญหาหลักใหญ่และเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ของสังคมส่วนรวม อะไรที่ทำแล้วเกิดผลในทางสร้างความพึงพอใจในการได้รับบริการของประชาชนก็จะเร่งรัดดำเนินการ แน่นอนว่าการแต่งตั้งโยกย้ายด้วยระบบคุณธรรมเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องทำ แต่สิ่งที่ผมเห็นชัดเจนว่าทำได้ในเรื่องง่ายๆ และควรทำมานานแล้ว คือ การแจ้งผลการให้บริการต่างๆ กับประชาชน เช่น การมีจดหมายหรือแม้แต่ไปรษณียบัตรสัก 1 แผ่น แจ้งความคืบหน้าทางคดีให้เขาได้อุ่นใจว่า คดีของเขาไม่ถูกทอดทิ้ง หากใครไปติดต่อโรงพักแล้วมีหนังสือเอกสารติดต่อมาแบบนี้ เชื่อว่าภาพลักษณ์ในการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจน่าจะดีขึ้นกว่าเดิม

กต.ตร.ประจำสถานีตำรวจ แม้จะมีการเปิดรับสมัครแล้ว แต่อยากเพิ่มสัดส่วนของ “คนนอกพื้นที่” สำหรับคนในพื้นที่จริงๆ แล้ว ผู้มาโดยตำแหน่งที่รับรู้ปัญหาและสามารถช่วยในการประสานทางราชการต่างๆ จะไม่เอาคนในพื้นที่เลยยังได้ เพราะเราน่าจะเปิดโอกาสให้คนดีคนเก่งมีฝีไม้ลายมือเข้ามามากกว่า ทราบมาว่าผลตอบแทนไม่จูงใจให้คนเข้ามาทำงาน แต่เราต้องการ “มืออาชีพ” หากรัฐบาลและกระทรวงการคลังจะสามารถพิจารณาจัดสรรงบประมาณมาแก้ไขความขาดแคลนตรงนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบสร้างสรร เพราะเราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรมนุษย์ที่เราให้โอกาสเขาเต็มที่ ดีกว่าไปพึ่งพาระบบเศรษฐกิจสีเทาเหมือนก่อน ที่เมื่อมันซบเซาก็มีคนอยากจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม การให้ผลตอบแทนสูงจะจ่ายเป็นเงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ต้องมีการวัดผลประเมินผลโดยคณะกรรมการที่เป็นกลาง ในทุกมิติ ตั้งแต่ตรวจสอบประวัติ ข้อร้องเรียน ความทุ่มเทเสียสละ 

ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งก็ไม่ควรสั้นหรือยาวนานเกินไป อำนาจหน้าที่หากเราไว้ใจเขาได้ ก็น่าจะมีส่วนในการบริหารงานบุคคลของตำรวจในสถานีตำรวจที่จับต้องได้ ผมเชื่อมั่นว่าหากปรับระบบ กต.ตร. ให้ได้คนดีมีความรู้ความสามารถและมีการรายงานประเมินผลการทำงานทั้งโดยตัว กรรมการ กต ตร และ โดยคณะกรรมการประเมินผลของสถานีตำรวจเองส่งมอบให้คณะกรรมการ ที่ได้รับมอบหมายประเมินผลในภาพรวมได้รับทราบเป็นระยะๆ น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นได้

สำหรับในเรื่องการให้ประชาชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เชื่อว่าสิ่งที่กล่าวถึงกลวิธีในการบริหารจัดการสถานีตำรวจแบบที่เสนอไปนี้น่าจะสะท้อนการแก้ไขข้อขัดข้องที่ประชาชนทั่วไปขาดโอกาสได้ขั้นหนึ่ง ส่วนจะต้องถึงขั้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแล ถือเป็นข้อเสนอที่เชื่อว่ากรรมการทุกท่านยินดีรับฟังแต่ต้องนำไปหารือถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง 

ในวันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีมองเห็นภารกิจของจังหวัดโดยเฉพาะ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ กอ.รมน. จังหวัดทุกจังหวัด น่าจะเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญในการทำให้ภารกิจของตำรวจสามารถบูรณาการกับราชการส่วนอื่นๆ ที่มีอยู่ได้อย่างรอบด้าน อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะให้ตำรวจบางส่วนในแต่ละพื้นที่ เข้าไปเชื่อมต่อยึดโยงการทำงานขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการ เพื่อประโยชน์ในการปฎิบัติหน้าที่และขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ที่จำเป็น

ในเรื่องของการขาดยุทธปัจจัยในการทำงาน แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ในมาตรา 75 ไม่ต้องการให้รัฐทำธุรกิจแข่งขันกับประชาชน แต่ขีดความสามารถในการผลิตอาวุธยุทธปัจจัยและสมรรถนะในการวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานหลายแห่งในภาครัฐ มิใช่จำกัดเฉพาะในส่วนของกระทรวงกลาโหม ด้วยในอนาคตเราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในกิจการของตำรวจอีกหลายประการ 

จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการที่ต้องหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาในการปรับปรุงร่างกฎหมายที่เข้าใจว่าเคยมีการนำเสนอให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการในเรื่องเหล่านี้เข้าไปแต่อาจติดขัดในแง่รูปแบบการจัดองค์การที่ยังไม่เรียบร้อย น่าจะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายในฐานะเป็นกิจการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐโดยไม่แข่งขันกับภาคเอกชน ซึ่งน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระและเป็นการผลิตและเสนอขายให้แก่กันระหว่างหน่วยงานของรัฐ อาวุธยุทธปัจจัยต้องขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินของทางราชการห้ามจำหน่ายเปลี่ยนมือเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจบานปลายออกไป

ในกรอบเวลารหัส 2-3-4 ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนะไว้นั้น เชื่อว่าหากเลือกจับภารกิจเร่งด่วนทำในสิ่งที่จะสามารถจับต้องได้เพื่อเป็นฐานในการปฎิรูปขั้นต่อๆ ไป น่าจะเกิดประโยชน์และเป็นมรรคเป็นผลที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจนก่อนเข้าสู่ปีใหม่ 2561 ระหว่างนี้อาจมีเสียงบ่นๆ ว่าเหตุใดไม่ฟังประชาชนไม่ฟังความให้ถ้วนทั่ว ต้องขอเรียนว่าคณะกรรมการในชุดนี้ส่วนหนึ่งคือผู้ที่ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับตำรวจมาโดยตรงและรับทราบถึงสิ่งที่ประชาชนปรารถนาอยากเห็นอยากให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องอำนาจในการสอบสวนคดีความต่างๆ ที่จะต้องหาข้อยุติให้ได้ว่าจะอยู่หรือไปจากตำรวจ 

จึงขอนำสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรองนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ดร. วิษณุ เครืองาม ได้คาดหวังไว้เช่นกันว่า คณะกรรมการชุดนี้จะต้องเป็น “คณะกรรมการฟันธง” คือ “ฟันธง” ในทางเลือกต่างๆ ที่มีผู้ศึกษากันมามากมายมหาศาลว่าแท้จริงแล้ว เราต้องการอะไรและจะเดินไปอย่างไรในเรื่องของ “ตำรวจ