การศึกษากับนวัตกรรมเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 1)

การศึกษากับนวัตกรรมเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 1)

จากอดีตกาลเดินทางสู่ยุคปัจจุบัน ที่ใครหลายคนรู้จักกันในนาม AI First การเปลี่ยนแปลงได้หลั่งไหลเข้าสะสมกัน

 จนเป็นกำแพงขนาดใหญ่ยิ่ง ขัดขวางการเดินหน้าไปสู่ความเป็นศิวิไลซ์ของภาคการศึกษา เมื่อพญาช้างสารเข้าชนผลกระทบย่อมเกิดไปทุกหย่อมหญ้าฉันใด การศึกษาในทุกระดับย่อมเกิดผลกระทบด้วยเช่นกันฉันนั้น

ในยุคปัจจุบันที่นวัตกรรมแทรกแซง (Disruptive Innovation) ได้เข้ามามีบทบาทไปในทุกอนูของการศึกษา ปัญหาแรกที่อยากจะชี้ให้เห็นคือการก้าวเดินไปข้างหน้า ของภาคการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมือนกันหมดมันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่จะทำให้อยู่รอดคือการสร้างนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม ด้วยความหมายของคำว่านวัตกรรมที่แปลว่า “สิ่งที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร” ทำให้มันมีพลังของการสร้างสรรค์อยู่ในตัวเองแล้วที่เหลือเพียงแค่รอให้มนุษย์นำความคิดเข้าไปใส่และผลักดันให้เกิดเป็นผลงานขึ้นมาและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

โดยเฉพาะภาคการศึกษาที่พลังแห่งการสร้างสรรค์ทางด้านเทคโนโลยี ยังคงเป็นได้เพียงซูเปอร์ ยูสเซอร์หรือที่เรียกว่า “ใช้เทคโนโลยีของผู้อื่นโดยไม่มีการเป็นเจ้าของเอง” การศึกษานั้นก็จะเป็นตัวเลือกในระดับรองลงมาหากต้องแข่งขันกับเจ้าของเทคโนโลยีที่เป็นผู้ผลิต คงไม่เป็นการเกินเลยก้าวล่วงไปนักหากจะกล่าวจากบริบทปัจจุบันของบ้านเราที่มีการเชื้อเชิญมหาวิทยาลัยระดับโลกเข้ามาร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งกันและกัน ต่อไปหากเห็นว่ากิจการไปได้ดีอาจเข้ามาตั้งวิทยาเขตแบบ 100% แต่ค่าใช้จ่ายไม่ต่างกันมากนักแต่ได้วุฒิเทียบเท่ากับไปเมืองนอก ฝากคำถามแบบกำปั้นทุบดินไว้ว่า ท่านจะเลือกเรียนที่ใด

อีกประการหนึ่งที่เป็นแก่นหลักของปัญหาด้านการศึกษา ในการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีอันดับแรกคือ การยอมรับจากสังคม ทั้งในด้านการใช้งาน ในด้านความปลอดภัย ดังจะเห็นได้ว่า โทรศัพท์สมาร์ทโฟนแบรนด์ระดับโลกที่มีประสบการณ์มายาวนานนับทศวรรษยังเกิดระเบิดขึ้นให้เห็นเป็นเนืองๆ แล้วถ้าเป็นแบรนด์โลคอลจะทำแบรนด์โทรศัพท์เข้ามาแข่งขันในตลาดได้อย่างไร และเมื่อทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง นายทุนเล็งเห็นว่าลงทุนมานั่งวิจัยเองกับการซื้อของต่างประเทศเข้ามานั้นอย่างหลังได้ราคาที่ถูกกว่าและเร็วกว่า ก็ยิ่งเข้าทางกับการเป็นประเทศผู้บริโภคอย่างสมบูรณ์แบบ เรื่องแบบนี้จะไปโทษใครในเมื่อมันเป็นกลไกของธุรกิจ ใครถูกกว่า ทำกำไรได้มากกว่า ใช้เวลาที่สั้นกว่าก็เป็นผู้ชนะเกมนี้ไป แต่ถ้าเลือกวิธีซื้อจากต่างประเทศเราจะไม่มีทางเป็นผู้ชนะในด้านเทคโนโลยีได้เลย

ลองมาตั้งข้อสังเกตอีกตัวอย่างหนึ่งกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานในบ้านเรา หัวใจหลักของยานพาหนะคือเครื่องยนต์ แต่การผลิตในบ้านเรากลับทำได้แค่ประกอบตามแบบไม่ได้ต่างอะไรกับการประกอบของเล่นที่ส่งมาจากร้านค้า พอมีคนคิดที่จะทำเครื่องยนต์ที่เป็นลายเซ็นของเราเองขึ้นมา นำไปเสนอนายทุนเพื่อขอการสนับสนุนก็ถูกคำถามแบบข้างบนกลับมา ใช้เงินเท่าไหร่ เงินขนาดนี้ซื้อเข้ามาขายถูกกว่านะ ใช้เวลาเป็นสิบปี ใครจะไปรอ ลูกค้าหนีหายหมด เกิดเป็นวงจรที่ทำให้นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีเติบโตได้แบบหอยทาก

อ่านต่อตอนที่ 2

..................................................................

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อาษา ตั้งจิตสมคิด

อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[email protected]

www.citu.tu.ac.th

www.facebook.com/citu.tu