การพัฒนาพนักงานคือ ความรับผิดชอบต่อสังคม

การพัฒนาพนักงานคือ ความรับผิดชอบต่อสังคม

ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นหนึ่งในปัจจัยด้านความยั่งยืนที่สำคัญของธุรกิจ

ระดับคุณภาพของพนักงานที่สะท้อนออกมาสู่สังคม จะช่วยให้ธุรกิจได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคและสังคมโดยทั่วไป เป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้เหนือกว่าคู่แข่งในตลาดได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น เรื่องของการพัฒนาพนักงานอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ จึงเป็นเรื่องที่ธุรกิจในปัจจุบันจะละเลยหรือถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

เพราะว่า พนักงานของบริษัท ก็จะมีบทบาทอีกด้านหนึ่ง คือการเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม

แนวทางในการพัฒนาพนักงานของธุรกิจที่สำคัญเป็นอันดับแรกก็คือ การมีระบบการสอนงานและการให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานแก่พนักงานผู้ปฎิบัติหน้าที่อย่างถ่องแท้ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของผลงาน หน้าที่ และความรับผิดชอบที่พึงมี ที่อาจส่งผลกระทบไปถึงผู้บริโภคที่ใช้สินค้าหรือบริการจากธุรกิจได้

รวมไปถึงการอบรมเพื่อให้พนักงานมีทักษะในการทำงานที่สูงขึ้น เช่น ทักษะในการเป็นผู้นำ ทักษะในการบริหารจัดการโครงการ การฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน หรือทักษะในการบริหารปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นต้น

ข้อสำคัญที่หลายๆ ธุรกิจอาจละเลยมองข้ามไปเสมอก็คือ การเน้นให้การอบรมมีผลต่อผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจ ไม่ใช่มองเฉพาะผลที่จะเกิดขึ้นต่อตัวพนักงานเท่านั้น

โดยพิจารณาว่า การอบรมที่ทำไปแล้วได้ช่วยให้บริษัท มีประสิทธิภาพโดยรวมดีขึ้น หรือสามารถบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ได้อย่างไร รวมไปถึงผลกระทบเชิงปริมาณที่เป็นตัวชี้วัดของผลการดำเนินงานของธุรกิจ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน

เช่น การที่พนักงานมีความรู้ความสามารถมากขึ้น ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนพนักงานใหม่หรือพนักงานเสริมชั่วคราว สามารถเพิ่มผลผลิต ลดความสูญเสีย หรือลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลงได้

ตัวชี้วัดเชิงปริมาณที่สำคัญ ได้แก่ การวัดผลตอบแทนจากการลงทุนของค่าใช้จ่ายโดยรวมเกี่ยวกับพนักงาน (Human Capital Return on Investment) ซึ่งสามารถคำนวณได้จากการเอาค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพนักงาน (เช่น เงินเดือน โบนัส เงินพิเศษ เงินชดเชย และสวัสดิการต่างๆ ที่ให้กับพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนา ค่าใช้จ่ายในการจัดหาจัดจ้างพนักงาน ฯลฯ) หักออกจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมของบริษัท เทียบกับกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการวัดประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในระดับบริษัท

ตัวชี้วัดเชิงปริมาณอีกตัวหนึ่งในระดับย่อยลงมา ได้แก่ การวัดผลตอบแทนจากการลงทุนในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบประโยชน์ที่สามารถวัดได้หรือคำนวณเป็นตัวเงินได้ กับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคคลากร (ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับ การอบรม พัฒนา เงินรางวัล เงินจูงใจ ฯลฯ ที่ไม่รวมถึง เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส และสวัสดิการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการอบรมพัฒนาพนักงาน)

โดยประโยชน์ที่สามารถวัดหรือคำนวณได้เป็นตัวเงิน อาจได้แก่ ยอดขาย หรือกำไรที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนการขายที่ลดลง การมีส่วนร่วมและการเสียสละของพนักงาน การลดลงของอัตราการลาออก หรือขาดงาน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยตรง

หรือในกรณีที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้ หากจัดอบรมโครงการความเป็นผู้นำสำหรับพนักงานที่มีศักยภาพสูง จะเห็นได้ชัดเจนหรือไม่ว่า กลุ่มพนักงานที่ได้รับการอบรมมีอัตราการลาออกที่ลดลงหรือไม่

สิ่งสำคัญที่ธุรกิจจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมก็คือ การสร้างพนักงานของตน ให้เป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมที่อยู่นอกเหนือเวลางาน

และสร้างพนักงงานของตนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ และของโลก ให้ได้ในที่สุด