สางปัญหาแรงงาน ขยะใต้พรมอุตฯไทย

สางปัญหาแรงงาน  ขยะใต้พรมอุตฯไทย

พลันที่รัฐประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

 พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2560 โดยสาระสำคัญหนึ่งคือการเพิ่มโทษหนักนายจ้าง กรณีรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน จะมีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 400,000 – 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน

ตามมาด้วยเสียงคัดค้านจากหลายผู้ประกอบการ ที่ใช้แรงงานเข้มข้น จนรัฐโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ใน 4 มาตรา ออกไป 180 วัน (6เดือน) เพื่อเปิดทางให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง

เรื่องวุ่นๆของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ยังนำไปสู่การ “เปิดข้อมูล” แรงงานต่างด้าวในไทย ที่พบว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสำนักบัญชีประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการณ์ว่า ในปี 2558 มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (ลาว เมียนมา และกัมพูชา) ในไทยจำนวน 3.9 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือประมาณ 3 ล้านคน 

ขณะที่ในปี 2563 คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเพิ่มขึ้นเป็น 4.4 ล้านคน โดยเป็นกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือประมาณ 4 ล้านคน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังพบว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 3 เท่า โดยแรงงานต่างด้าวสามารถทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนได้กว่า 45%

นอกจากนี้ แรงงานต่างด้าวจำนวนมากยัง“ไม่ได้ขึ้นทะเบียน”ถูกต้อง เฉพาะที่ติดปัญหาไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ ตามข้อมูลของสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ระบุว่ามีมากถึง 1.8 ล้านคน สำทับด้วยข้อมูลของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรมีแรงงานที่ถูกต้องเพียง 1.5 ล้านคน ที่เหลือ 3 ล้านคนเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ในจำนวนนี้มีทั้งแรงงานที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ พิสูจน์สัญชาติได้แต่ไม่มีการขึ้นทะเบียน ขึ้นทะเบียนแล้วแต่ทำงานไม่ตรงกับที่ระบุไว้ และไม่มีใบอนุญาตการทำงานในประเทศ

เหล่านี้คือสิ่งที่ถูกเปิดขึ้นใต้พรมปัญหาที่สะสมหมักหมมมากนานในภาคการอุตสาหกรรมไทย ที่ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องเข้ามา “จัดระเบียบ” ปัดกวาดแก้ไขปัญหานี้ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นหลังพ้น 180 วันของการผ่อนปรน โดยหากสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆตามมาอีกมาก 

เพราะนอกจากการใช้แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ตีทะเบียน หรือ ไม่รู้ที่มาที่ไป จะกลายเป็นอุปสรรคต่อกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นแรงงานกดดันหนึ่งของความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายที่รัฐยกมาเป็นเหตุผลแล้ว

การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้อง ทางหนึ่งยังเป็นการ “ลดปัญหา” ทางสังคม โดยเฉพาะ ปัญหาอาชญากรรม ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของแรงงานต่างด้าวซึ่งไม่อาจตรวจสอบที่มาที่ไป ทั้งยังส่งผลดีต่อแรงงานต่างด้าวเองในการได้รับสวัสดิการในสถานประกอบการ ซึ่งภาพรวมของคนในสังคมน่าจะได้รับประโยชน์นี้ 

การแก้ไขปัญหานี้ ยังจะเป็นการ “ยกระดับ” ภาคอุตสาหกรรมไทย สู่การเดินหน้าสู่ “เพิ่มประสิทธิภาพ”ในการดำเนินธุรกิจ ในวิถีทางอื่น นอกเหนือการใช้แรงงานราคาถูก ที่พิสูจน์แล้วว่า “ไม่ยั่งยืน” โดยหากธุรกิจไม่สามารถ“ก้าวข้าม”ปัญหานี้ไปได้ ประเทศไทยก็ไม่อาจถามหา การมุ่งสู่ “อุตสาหกรรม4.0” ที่ยังเป็นหนังม้วนยาว