อย่า! เอาเปรียบ ทางการเมือง

อย่า! เอาเปรียบ ทางการเมือง

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเข้ามา “พรรคการเมือง” ยิ่งหวั่นไหว เพราะเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก

 ไม่เป็นใจกับทั้งพรรคการเมืองขนาดเล็กและพรรคใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นกฎกติกาหยุมหยิมที่จะทำให้พรรคเล็กขับเคลื่อนลำบาก และกติกาการนับคะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่ประโยชน์น่าจะไปตกอยู่กับพรรคขนาดกลาง ที่มีผู้สมัครที่เกือบสอบได้อยู่จำนวนมาก

อีกทั้งกระแสนายกฯคนนอกก็เริ่มเห็นเค้าลางชัดเจนมากขึ้นทุกที

ในขณะที่พรรคการเมืองเองเมื่อลงทุน ลงแรง ก็อยากจะมีโอกาสในการบริหารบ้านเมืองตามอุดมการณ์ แนวคิดหรือนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน และอาจพ่วงไปด้วยเหตุผลอื่นๆ

ข้อกังวลไม่เพียงเพราะสาระของกฎหมาย แต่ยังมีปัจจัยอื่น อย่างเช่นตัวผู้ที่ถูกคาดหมายว่าจะเข้ามาหยิบชิ้นปลามันเอง ก็ยังคงแบ่งรับแบ่งสู้

ยิ่งเมื่อวิเคราะห์ย้อนไปดูถึงกลไกการเมืองที่ถูกวางไว้ ก็ยิ่งทำให้มั่นใจมากยิ่งขึ้น

อย่างเช่นการวางเครือข่าย 250 สว.เอาไว้ตามบทเฉพาะกาล ที่จะเป็นขุมกำลังและฐานเสียงสำคัญให้กับ “นายกฯคนนอก”ที่ถือได้ว่ามาตัวเปล่าไม่มีบรรดาส.ส.ในมือเหมือนฝ่ายการเมือง

ที่สำคัญหากผู้ที่จะมารับตำแหน่ง เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามกระแสข่าว ถึงวันนั้นการทำงานก็จะ“ไม่ง่าย”อย่างเช่นทุกวันนี้ 

เพราะจะไม่ได้ถูกรายล้อมด้วยขุนทหาร รุ่นน้อง-รุ่นพี่ แต่จะเต็มไปด้วย“นักการเมือง”มากประสบการณ์และความ“แพรวพราว”

สำคัญที่สุดคือจะไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 ให้ออกคำสั่งพิเศษเพื่อผ่าทางตันใดๆ

การเริ่มขยับขับเคลื่อนของบรรดานักการเมืองที่หูไวตาไว ยิ่งเป็นเสมือนคำยืนยัน

บางพรรคเริ่มมีการเรียกร้องให้ ปลดล็อก” การทำกิจกรรมของพรรคการเมือง ประสานเสียงกับบางพรรคที่ระบุว่า"ไม่ขัดข้องที่ทหารจะลงสู่สนามการเมือง แต่ที่สำคัญต้องไม่เอาเปรียบกัน

สอดคล้องกับคำเรียกร้องก่อนหน้านั้นของผู้อาวุโสทางการเมือง อย่าง พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้พรรคการเมืองจับมือกัน“สกัดพรรคทหาร” ก่อนที่ล่าสุดที่ออกมาเสนอ“เปรมโมเดล”ให้กับผู้ที่จะมาเป็นนายกฯคนนอก

ขณะเดียวกันก็ถูกมองอย่างเป็นห่วงว่าหาก “ไร้อำนาจพิเศษ” และต้องทำงานกับนักการเมืองเขี้ยวลากดิน สุดท้ายประเทศชาติอาจไม่ได้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น !!!