สกัด 'นายกฯคนนอก'

สกัด 'นายกฯคนนอก'

ท่ามกลางการเมืองที่ยังมากมายไปด้วยความหวั่นไหว โดยเฉพาะเงื่อนไขของกฎกติกาใหม่ ในการจัดการเลือกตั้ง

 และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ที่มีความแตกต่างไปจากเดิมหลายประการ เริ่มตั้งแต่กระบวนการต้นทางในการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ที่กำลังมีความเห็นต่างและกำลังจะมีการพิจารณาร่วมกันของกรรมาธิการ 3 ฝ่าย ไปจนถึงปลายทางกระบวนการเลือกตั้ง ที่มีวิธีการนับคะแนนทั้งส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อที่ผิดไปจากที่คุ้นเคย เป็นการสร้างความกังวลใจให้กับบรรดาพรรคการเมืองอย่างกว้างขวาง

ขณะที่ล่าสุดมีข้อเสนอจากผู้อาวุโสทางการเมืองอีกครั้ง นายพิชัย รัตตกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่าหากพรรคการเมืองยังไม่สามารถ“ปรองดอง”และไม่สามารถร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเป็นเอกภาพ ก็น่าจะเชื้อเชิญให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับเข้ามาบริหารบ้านเมืองอีกครั้ง ในฐานะนายกรัฐมนตรี“คนนอก”ตามที่รัฐธรรมนูญได้เขียนเปิดช่องเอาไว้ ไม่ว่าจะด้วยตั้งใจอย่างไรหรือไม่ก็ตาม

ข้อเสนอดังกล่าวมองได้ 2 นัยว่าเป็นการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้รับตำแหน่งนายกฯอีกสมัย แบบเดียวกับคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากเห็นเช่นนั้น แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นการ“อ่านขาด”ของนักการเมืองที่คร่ำหวอดทางการเมืองมายาวนาน ว่าการที่จะจัดตั้ง“รัฐบาลผสม”ที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว มีความเป็นไปได้ยาก และเรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย เมื่อเป็นเช่นนั้นรัฐบาลก็ไร้เสถียรภาพ ขาดความเด็ดขาดในการนำพาบ้านเมืองไปสู้ความเจริญก้าวหน้า และการเดินตามแนวทางยุทธศาสตร์และการปฏิรูปที่วางกรอบเอาไว้

ยังมีการเสนอข้ามช็อตต่อไปด้วยว่า รัฐบาลคนนอกของพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องยึดเอาแนวทาง“เปรมโมเดล”ที่เคยถูกเชิญให้ดำรงตำแหน่งหลายครั้งต่อเนื่องรวมแล้วยาวนานถึง 9 ปี ด้วยการตั้งรัฐมนตรีที่ปลอดทหาร และนำเอาคนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางเข้ามาช่วยกันทำงานให้บ้านเมือง ซึ่งในประเด็นหลังนี้เป็นความเห็นที่น่ารับฟังหากจำเป็นจะต้องมีนายกรัฐมนตรีจากคนนอกจริง และในความเป็นจริงแล้วที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ เองก็น่าจะมีผู้มีความสามารถหรือเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง มาเป็นรัฐมนตรีในสัดส่วนที่มากกว่าที่เป็นอยู่ 

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีข้ออ้างในเรื่องความมั่นคง แต่ก็น่าจะอยู่บนสัดส่วนที่เหมาะสม เหมือนเมื่อคราวรัฐประหารโดยคณะรักษาความเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่เชิญ นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี มีข้อตกลงกันชัดเจนว่าทหารจะดูแลเฉพาะงานด้านความมั่นคงที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีนั้น นายอานันท์ ของสงวนสิทธิ์ที่จะเป็นคนจัดสรรเอง ทำให้ในช่วงเวลานั้นเราได้เห็นรัฐมนตรีที่มีคุณภาพ และเป็นมืออาชีพเข้ามาทำงานมากมายหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่มากความสามารถและประสบความสำเร็จจากภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตามแม้หลายคนจะชื่นชมผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเป็นรัฐบาลทหารไม่ได้สามารถขับเคลื่อนได้ทุกเรื่อง และไม่ได้ทำให้ความสงบในบ้านเมืองเกิดขึ้นได้จริง แต่เป็นเพียงเพราะการใช้อำนาจทหาร“กด”ไว้ ดังนั้นการจะทำให้การเมืองขับเคลื่อนไปได้ด้วยวิถีปกติจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นหน้าที่ของนักการเมือง ที่จะต้องหยุดทะเลาะเบาะแว้ง ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างในอดีต ที่แม้จะไม่มีมิตรแท้แต่ก็ “ไม่มีศัตรูถาวร” และควรต้องบอกกล่าวประชาชนเป็นนโยบายหาเสียง ว่าจะสร้างความปรองดองในบ้านเมืองนี้อย่างไร