ทำอย่างไรจึงจะเป็นอารยะผู้ประกอบการที่ดีเลิศได้

ทำอย่างไรจึงจะเป็นอารยะผู้ประกอบการที่ดีเลิศได้

จำนวนผู้ประกอบการทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 400 ล้านคน (1 คนต่อประชากรโลก 19 คน)

 ในปี 2012 เป็น 1 พันล้านคน (2.3 คนต่อประชากรโลก 19 คน) ในปี 2020 เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ส่งผลให้ต้นทุนในการทำธุรกิจและต้นทุนในการผลิตสินค้าต้นแบบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงไม่เป็นการยากที่จะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการในปัจจุบัน

ปัจจุบัน คนหนุ่มสาว โดยเฉพาะ Gen Y มีความต้องการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะต้องการทำงานที่เป็นอิสระตามความคิดของตัวเอง เป็นนายของตัวเอง หรือต้องการร่ำรวยอย่างรวดเร็ว และเกษียณอายุก่อนกำหนด แล้วใช้ชีวิตที่เหลือพักผ่อนและท่องเที่ยว

ผมเห็นว่า แนวคิดดังกล่าวถูกต้องเพียงบางส่วนเท่านั้น ผมปรารถนาจะชวนคิดว่า แท้ที่จริงแล้ว อะไรคือเป้าหมายสุดท้ายของการประกอบการ? แรงจูงใจที่ดีงามของการประกอบการคืออะไร? และการประกอบการที่ดีหมายถึงอะไร?

ในความเห็นของผม การประกอบการไม่ใช่เพียง การบุกเบิกก่อตั้งกิจการ การสร้างสินค้าใหม่ๆ หรือการบริหารจัดการกิจการ ผมขอให้นิยาม การประกอบการ (Entrepreneurship)”สั้นๆ ว่า การทำความฝัน ให้เป็นความจริงและยั่งยืน” กล่าวคือ มีความฝันหรือเป้าหมายที่มีคุณค่า มุ่งมั่นลงมือทำสร้างงาน สร้างคน สร้างองค์การ โดยไม่ย่อท้อ ผลักดันจนสำเร็จและสำเร็จอย่างยั่งยืน

บทความนี้ ผมจึงขอนำเสนอวิธีการพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการที่ดีเลิศ ดังต่อไปนี้

อุดมการณ์ของผู้ประกอบการ: ประกอบการเพื่อปวงประชา

ผู้ที่จะเป็นผู้ประกอบการที่ดีได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ เพราะเขารู้ว่าตนเองกำลังทำอะไร จะทำอย่างไร และที่สำคัญคือ รู้ว่าทำเพื่ออะไร ผู้ที่ได้ทำงานที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ในชีวิต จะเป็นคนที่มีความสุขที่สุด และจะสามารถทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ผมเห็นว่า ผู้ประกอบทุกคนควรมีอุดมการณ์ในการประกอบการเพื่อ ปวงประชา กล่าว คือ เป็นการประกอบการเพื่อสร้างประโยชน์บางประการ บางประเด็น หรือเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างในสังคม หรือเพื่อช่วยเหลือคนบางกลุ่มหรือบางพื้นที่

ผู้ประกอบการที่มีอุดมการณ์เพื่อผู้อื่น มีแนวโน้มทำงานได้ดี เพราะ “งานจะไปได้ดี เพราะคนไม่ได้ทำเป็นอาชีพ แต่ทำด้วยใจ”

ดังตัวอย่าง ด.ญ. วิเวียน ฮาร์ (Vivienne Harr) อายุ 8 ขวบ (ปี 2012) ได้ก่อตั้งร้านน้ำมะนาว ‘Make A Stand’ และหักร้อยละ 5 ของยอดขาย มอบให้องค์กรการกุศลต่างๆ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนอาหารทั่วโลก ความคิดในการช่วยเหลือผู้อื่นนี้เกิดขึ้นเมื่อ เธอได้เห็นภาพถ่ายเด็กชาวเนปาล 2 คนที่อายุไม่ห่างจากเธอมากนัก อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร และไม่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ เวลานั้น เธอคิดแต่ว่า เธออยากช่วยเด็กทั่วโลกให้ได้กินอิ่ม

แนวคิดของผู้ประกอบการ: หาเงินให้ได้มากที่สุด ใช้ให้น้อยที่สุด และบริจาคให้มากที่สุด

ผมได้สร้างแนวคิด “Law of 99-1” แสดงถึง แนวโน้มความเหลื่อมล้ำแบบรุนแรง โดยคนส่วนน้อยร้อยละ 1 ครองส่วนแบ่งความมั่งคั่งเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 99 แนวโน้มดังกล่าวจะสร้างปัญหาและความขัดแย้งในสังคมรุนแรงขึ้น ซึ่งการเก็บภาษีจากคนรวยมาช่วยคนจน ถ้าเก็บมากเกินไป จะทำลายแรงจูงใจในการผลิตของคนรวย อาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง และจะทำให้คนรวยหาทางขนและเอาเงินออกไปยังประเทศอื่น เช่น ไปที่มี tax heaven

ด้วยเหตุนี้ แนวทางที่ดีที่สุด คือ จูงใจให้คนรวยหรือเจ้าของธุรกิจบริจาคมากขึ้น ด้วยการพัฒนาให้ผู้ประกอบการมีแนวความคิดที่ว่า หาเงินอย่างถูกหลักการถูกวิธีให้ได้มากที่สุด ใช้ให้น้อยคุ้มค่าประสิทธิสภาพที่สุด และบริจาคให้มากที่สุด

วอร์เร็น บัฟเฟ็ตต์ เป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก ยังคงทำงานอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้มีอายุถึง 87 ปีแล้ว และขึ้นชื่อว่า เป็นมหาเศรษฐีที่ใช้ชีวิตอย่างสมถะ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาได้บริจาคเงิน 31 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 85 ของหุ้นที่ถืออยู่ในเบิร์คไชร์ ฮาธะเวย์ ให้แก่ 5 องค์กรการกุศล มากกว่านั้น บัฟเฟ็ตต์ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบทรัพย์สมบัติร้อยละ 99 ให้กับการกุศล

ผลกำไรของผู้ประกอบการ: Modified Single Bottom Line Model

ผมเสนอแนวคิด “Modified Single Bottom Line” คือ การปรับให้เหลือเพียง bottom line เดียวที่เป็นส่วนผสมของหลาย bottom line โดยถ่วงน้ำหนักของ bottom line ต่างๆ อย่างสมดุล ทั้งนี้ผู้ประกอบการไม่ควรยึดกำไร หรือเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง เป็น bottom line โดดๆ แต่ไม่ควรมีหลาย bottom line เช่นกัน เพราะจะทำให้เกิดความสับสนและขัดแย้งกันเองของเป้าหมาย

ผู้ประกอบการที่ดีควรให้น้ำหนักกับ bottom line ที่มี “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” กล่าวคือ การทำธุรกิจไม่ได้มีเป้าหมายสุดท้ายที่การทำกำไร แต่มีเป้าหมายที่มากกว่านั้น กำไรอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายที่มีคุณค่า

คุณค่าในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะคุณค่าในตัวสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ยังหมายถึง คุณค่าที่เกิดขึ้นจากการมีอยู่ขององค์กร เช่น คณะกรรมการบริหาร บริษัทยา Merck ได้ตัดสินใจที่จะผลิตยารักษาโรค River Blind ในแอฟริกา โดยใช้เงินของตนเอง และแจกจ่ายไปให้ความช่วยเหลือกับผู้ป่วยทั้งหมดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แม้สถานการณ์ของ Merck ในขณะนั้น ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นต้น

ปริมณฑลการประกอบการ: ไปให้ไกลกว่าเพียงการประกอบการเชิงธุรกิจ

ผมจำแนกกิจกรรมทั้งหมดในโลกหรือในประเทศหนึ่งๆ ออกเป็น 3 ภาคส่วนหลัก ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน การประกอบการสามารถเข้าไปอยู่ทั้ง 3 ภาคส่วน และส่วนที่คาบเกี่ยวหรือทับซ้อนกันของทั้ง 3 ภาคส่วน

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการยังให้ความสำคัญกับการประกอบการธุรกิจเป็นหลัก ขณะที่ภาคกิจอื่นๆ แต่ยังขาดแคลนผู้ประกอบการ และขาดกลไกการพัฒนาผู้ประกอบการที่เฉพาะเจาะจง เช่น ภาครัฐต้องการผู้ประกอบการภาครัฐ (public entrepreneur) เพื่อมองหาโอกาสและสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดของภาครัฐ เป็นต้น

การเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ: เพราะเห็นปัญหาและความต้องการของสังคมเป็นหลัก

ผู้ประกอบการที่ดีเข้ามาประกอบการเพราะเห็นโอกาส (Opportunity entrepreneurs) ไม่ใช่เพราะไม่มีอาชีพอื่น (Necessary entrepreneurs) กล่าวคือ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่อยากเห็นสังคมดีขึ้น ประเทศพัฒนาขึ้น ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น มองเห็นปัญหาและความต้องการของสังคม เป็นโอกาสที่จะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม

ผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสจะแสวงหาแนวทางที่ริเริ่ม คิดค้น พัฒนาแนวทางหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อหาคำตอบและแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้น (innovative entrepreneurs) รวมไปถึงมีความสามารถระดมทรัพยากรและการสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ มาผลักดันให้วิสัยทัศน์นั้นเป็นผลสำเร็จ

การจะเป็นอารยะผู้ประกอบการที่ดีเลิศนั้น ต้องเป็นคนที่ ดี เก่ง กล้ากล่าวคือ ไม่เพียงแต่มีความคิดดี คิดเพื่อคนอื่น แต่ต้องศึกษาหาความรู้ ฝึกฝน เพื่อให้ตนเอง เก่งในเรื่องที่อยากทำด้วย ต้องกล้าคิดริเริ่มสร้างสิ่งใหม่ กล้าเสี่ยงที่จะลงมือทำในสิ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน และเมื่อเป็นผู้ประกอบการที่ดี การประกอบที่ดีจักปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน