20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง : เรียนรู้อดีต มุ่งสู่อนาคต

20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง : เรียนรู้อดีต มุ่งสู่อนาคต

20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง : เรียนรู้อดีต มุ่งสู่อนาคต

เรียนรู้อดีต มุ่งสู่อนาคต ในโอกาสครบรอบ 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีสถาบันการเงินต้องปิดกิจการลงมากมาย หลายธุรกิจล้มละลาย นักลงทุนหุ้นหลายคนหมดเนื้อหมดตัว เป็นหนี้เป็นสิน โอกาสดีในครั้งนี้ที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ในอดีต สรุปเป็นบทเรียน เพื่อเป็นฐานสำหรับทุกคนในการมุ่งสู่อนาคตสร้าง 20 ปีข้างหน้าต่อไป โดยในโอกาสนี้ทาง บลน.อินฟินิติ ได้จัดเสวนาจากวิทยากรกิตติมศัพท์ คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และดำเนินรายการโดยคุณกฤษณ์ จันทโนทก, ประธานกรรมการ บลน.อินฟินิติ โดยผมขอตัดบางส่วนที่น่าสนใจมาให้ท่านผู้อ่านได้รับชมกันครับ

คุณกรณ์: ก่อน 2540 เป็นช่วงที่ท้าทายและสนุกสนานมากที่สุด เนื่องจากประเทศไทยรับเงินทุนจากต่างประเทศมากที่สุดในโลก ทั้ง FDI เงินลงทุนในหลักทรัพย์และเงินให้กู้ แต่เริ่มมีสัญญาณชัดเจนก่อนเกิดวิกฤติ เช่นดัชนีหุ้นขึ้นไปสูงสุดก่อนเกิดวิกฤติช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเริ่มตกลงมาก่อนวิกฤติ เพราะมีสัญญาณว่ามีการลงทุนเกินพอดี เช่น Return on Asset ลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเงินล้น แต่ผู้คนยังชะล่าใจและมองไม่เห็นความเสี่ยงเนื่องจากคิดว่ามีการผูกอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินไทยดอลลาร์สหรัฐ การออก euro convertible bond วงเงิน BIBF ที่กู้จากต่างประเทศดอกเบี้ยถูก มาปล่อยกู้ในประเทศที่ได้ดอกเบี้ยแพงกว่า ซึ่งสถาบันการเงินหันมาทำกันเป็นจำนวนมาก ส่งเสริมให้เงินทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามา ก่อให้เกิดเงินล้นประเทศ ทำให้เกิดการเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์

ดร ประสาร: ก่อนเกิดวิกฤต ประเทศไทยเหมือนมี MIRACLE เราเคยคาดหวังว่าเป็น เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย จากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ย 10% เป็นเวลาหลายปี ทำให้เราเกิดความชะล่าใจทั้งภาครัฐ และเอกชน ให้หลายอย่างเป็นไปตามอำเภอใจจนเสียสมดุล โดยการคิดว่าเราจะเติบโตแบบนี้ไปเรื่อยๆ เช่น ไม่ได้เตรียมพร้อมเรื่องบัญชีเงินทุนแม้ว่าจะเปิดให้การไหลของทุนอย่างเสรี โดยมั่นใจว่าไม่มีความเสี่ยงเพราะอัตราแลกเปลี่ยนของเงินไทยและเงินสหรัฐจะคงที่ไปเรื่อยๆ และเมื่อมีเงินมาก จึงเกิดการลงทุนที่เกินพอดี เมื่อคนต่างชาติมองเห็นจุดอ่อนจึงก่อให้เกิดการโจมตีค่าเงิน ประเทศไทยไม่สามารถรับมือได้เนื่องจากทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก จึงปล่อยค่าเงินลอยตัว ทำให้ธุรกิจในประเทศไทยเกิดวิกฤตจำนวนมากเพราะใช้เงินกู้จากต่างประเทศสูงมาก นอกจากนี้วิกฤตยังลุกลามไปยังประเทศรอบ ๆ ในเอเชียอีกด้วย

บทเรียนสำคัญหลังจากผ่านวิกฤต

คุณกร : ต้องมีสติ คอยเปิดรับข้อเท็จจริง เช่น มีสัญญาณอะไรหรือไม่ที่บ่งบอก และต้องมองหลาย ๆ มุมด้วยความไม่อคติ

ดร.ประสาร : ประเทศเราได้เปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง เช่น นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ให้มีความโปร่งใสและเหมาะสมมากขึ้น เงินสำรองระหว่างประเทศต้องมีความเพียงพอ ทั้งในด้านจำนวนและการกระจายตัวของสกุลเงิน นอกจากนี้ยังปรับโครงสร้างองค์กร การกำกับสถาบันการเงินเช่น ควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ตั้งสถาบันเครดิตบูโร และการมี mind set การลงทุนที่ดี เช่น รอบคอบ ไม่ประมาท อย่าทำตามอำเภอใจ ควรลงทุนอะไรที่เข้าใจ

อยากจะฝากอะไรไว้ 20 ปีข้างหน้า

คุณกร : ฝากเรื่อง disruptive technology เช่น AI ที่จะเข้ามามีบทบาทแทนตลาดอาชีพ เช่น แรงงานมนุษย์  และประเด็นภาระจากสังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่บุคคลวัยทำงานน้อยลง ทำให้รัฐมีภาระทางการเงินในการให้สวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นวิกฤติรอบหน้าจึงเป็นเป็นวิกฤติของการแข่งขันของประเทศไทย

ดร. ประสาร: วิกฤตที่จะเข้ามาในอนาคตนั้นมีได้ 2 แบบคือแบบที่พอจะรู้ตัว กับแบบที่ไม่รู้ตัว ปี 40 มันเหมือนกับเอากบใส่กระทะร้อนที่มีน้ำเดือด แล้วมันกระโดด แต่วิกฤตแบบใหม่จะเป็นกบที่อยู่ในน้ำที่ค่อยๆ อุ่นขึ้น การมองไปยังอนาคต ถ้าเรารู้อนาคตที่อยากจะไป แล้วบริหารจัดการได้ก็จะดี ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่ควรจะเป็นการเอาแผนเศรษฐกิจ 5 ปี มาวางเรียงกัน แต่ควรให้โอกาสเราทำสิ่งที่ทำไม่ได้ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาสั้นๆ

ทั้งหมดก็เป็นบทเรียน 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง : เรียนรู้อดีต มุ่งสู่อนาคต ที่นำมาฝากข้อคิดดี ๆ กันในวันนี้ สวัสดีครับ