รัฐบาลต้องเร่งมือ จัดระเบียบ 'เงินวัด'

รัฐบาลต้องเร่งมือ จัดระเบียบ 'เงินวัด'

การจัดระเบียบ “เงินวัด” ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่

มีความพยายามพูดถึงมาแล้วหลายยุคสมัย แต่เป็นเรื่องที่แตะต้องลำบากด้วยเหตุผลที่มักถูกคัดค้านด้วยข้อหาก้าวล่วงพระพุทธศาสนา ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเรื่อเงินที่เกี่ยวข้องกับวัด มีทั้งงบประมาณแผ่นดิน ที่เป็นเงินบำรุง-บูรณะวัด ไปจนถึงเงินประจำของพระเถระผู้ใหญ่ที่มีภารกิจสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมไปถึงเงินบริจาคที่หลายวัดมีจำนวนมหาศาลทั้งจากการบริจาคด้วยศรัทธา และการทำกิจกรรมหาเงินเข้าวัด ซึ่งหมายถึงทั้งที่จัดด้วยความเหมาะสมและไม่เหมาะสม

เงินจำนวนมหาศาลเหล่านี้จริงอยู่ว่าเกิดจากความศรัทธา และด้วยความเต็มใจของผู้บริจาค แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าถูกนำไปใช้เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามากน้อยแค่ไหน มีเงินที่ตกหล่นรั่วไหลบ้างหรือไม่ เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน มีทั้งกระบวนการที่ใช้จ่ายอย่างผิดประเภท ไปจนถึงการยักย้ายถ่ายเงินวัดไปเป็นของตัวเองและเครือญาติ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของพระผู้ใหญ่บางรูป หรือตัวบุคคล กลุ่มคนที่เข้าไปทำมาหากินจากวัด 

มาถึงวันนี้กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณี“เงินทอน” ที่มีผู้ใหญ่ในสำนักงานพระพุทธศาสนา(พศ.) ส่อว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกรับเงินจากวัด ด้วยการจัดงบประมาณก้อนมหาศาลให้วัดหลายแห่ง แบบที่เรียกว่าเกินกว่าความจำเป็น แล้วก็ตามไปรับเงินส่วนต่าง เป็นงบประมาณที่จัดมาให้โดยไม่ต้องมีคำขอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันมานาน แต่ไม่เคยมีปัญหา เพราะวัดเองก็ได้รับงบไปบ้างตามสมควร และกรณีแบบเดียวกันนี้ยังเคยเกิดขึ้นโดยนักการเมืองท้องถิ่น ที่เป็นกรณีตัวอย่างจนติดคุกติดตารางมาแล้ว

ดังนั้นวันนี้ถ้ารัฐบาลจะออกกติกา หรือกำชับให้มีการดูแลการใช้จ่ายเงินวัดอย่างเข้มข้น หลายฝ่ายก็คงจะต้องทำใจยอมรับกันให้ได้มากขึ้น เพราะตัวอย่างมีให้เห็นแล้วว่าการปล่อยให้อยู่เหนือกติกา ได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นทั้งในส่วนที่เป็นงบประมาณแผ่นดิน ทั้งเงินที่อาจมีการใช้ผิดเจตนารมณ์ผู้บริจาค มีการยักย้ายเข้าพกเข้าห่อ บางวัดมีกลุ่มคนเข้าไปปักหลักทำมาหากินอย่างจริงจังฝังรากลึกมานาน บางวัดมีการเข้าไปสัมปทานจัดงานหาผลประโยชน์ แล้วหยิบยื่นส่วนแบ่งให้วัดและพระผู้ใหญ่

ทั้งหมดนั้นยังไม่รวมถึงของทำบุญที่หลายวัด โดยเฉพาะวัดใหญ่ในชุมชน มีจำนวนมหาศาลที่น่าจะมีการ“จัดการ”ให้เกิดประโยชน์กับสังคมและชุมชนอย่างแท้จริง อย่างเช่นของใส่บาตรแต่ละวันที่มีปริมาณมากกว่าความต้องการของพระสงฆ์ หากสามารถจัดสรรให้ชาวบ้านยากจน นักเรียนที่ขาดแคลนก็จะเกิดเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน-วัด-โรงเรียน ตามแนวทาง “บวร”ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นรัฐบาลต้องรีบกำหนดมาตรการ จัดระเบียบกันอย่างจริงจัง และพุทธศาสนิกชนเองก็ต้องใจกว้าง ต้องยอมรับว่าวัดก็เป็นสังคมหนึ่งที่ประกอบด้วยคนที่แตกต่างเช่นเดียวกับสังคมทั่วไป รวมทั้งต้องยอมรับความเป็นจริงว่ากติกาที่ออกมาไม่ใช่เพื่อการ“จับผิดพระ” แต่จะเป็นการช่วยไม่ให้ศาสนาเสียหายมากไปกว่านี้ ให้วัดกลับไปเป็นองค์กรที่ใสบริสุทธิเหมือนในอดีต เป็นสถาบันที่เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ชุมชน และคนตกทุกข์ได้ยากอย่างสนิทใจอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาตลอดในความเป็นอยู่แบบวิถีไทย