แรงส่งของเทคโนโลยี

แรงส่งของเทคโนโลยี

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนบทบาทมาเป็นแกนนำขับเคลื่อนธุรกิจสมัยใหม่ ภูมิทัศน์ทางธุรกิจก็เปลี่ยนโฉมกันอีกครั้ง

และไม่จำกัดเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่ยังส่งผลไปถึงทุกอุตสาหกรรมทั้งสื่อ พลังงาน ค้าปลีก รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หนักแน่นมั่นคงมาหลายสิบปี

เพราะแต่ไหนแต่ไรคู่แข่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ล้วนมองเห็นได้ชัดเจนเพราะเติบโตตามกันมาตลอด เช่น โตโยต้า หากมองคู่แข่งสัญชาติเดียวกันก็จะมี ฮอนด้า นิสสัน หรือจะมองข้ามมาในตลาดสหรัฐ ก็ต้องเจอกับ ฟอร์ด ในขณะที่ยุโรปก็มี เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู

แต่เพียงไม่กี่ปีมานี้ Tesla ซึ่งเปิดตัวในธุรกิจยานยนต์ด้วยรถไฟฟ้าเพียงไม่กี่รุ่น แต่กลับสร้างมูลค่าให้บริษัทได้สูงถึง 51,000 ล้านดอลลาร์ แซงหน้ายักษ์ใหญ่ที่ครองตำแหน่งมานับสิบปีอย่างฟอร์ดไปได้อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

แต่เทสล่า ก็ไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะในเวลานี้อุตสาหกรรมยานยนต์ ต่างก็เร่งแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยี “ไร้คนขับ” ซึ่งความก้าวหน้าในด้านปัญญาประดิษฐ์และดีพเลิร์นนิ่งชั้นยอดเป็นผลงานของ กูเกิลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการให้รถยนต์สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง

ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่กูเกิลทดลองรถยนต์ไร้คนขับของตัวเองบนท้องถนนจริง ประสบการณ์ที่คอมพิวเตอร์ได้เรียนรู้เทียบได้กับเวลา 75 ปีของคนธรรมดา การตั้งเป้าหมายจะผลิตรถยนต์ขายภายในปี 2020 จึงมีความเป็นไปได้สูงมาก

ทุกวันนี้กูเกิลจึงถูกหมายหัวให้เป็นคู่แข่งอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยขายรถยนต์สู่ท้องตลาดเลยแม้แต่คันเดียว เพราะมีลูกค้าทั่วโลกที่รอคอยให้เทคโนโลยีนี้เป็นจริง 

โดยเฉพาะรัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศวางแผนสู่การเป็น Smart City ก็ศึกษาเรื่องระบบรถยนต์ไร้คนขับอย่างจริงจังเช่นกัน

ตัวอย่าง ที่ประกาศตัวพร้อมมีโครงการทดลองอย่างเป็นรูปธรรมไปแล้วก็คือสิงคโปร์ โดยมีรถยนต์ไร้คนขับทดลองให้บริการอยู่ แต่ยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ ขณะที่เกาหลีใต้ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงถนนหลักหลายสายให้พร้อมรองรับเทคโนโลยีดังกล่าว

หันมาดูแวดลงค้าปลีก ซึ่ง Walmart ผูกขาดความเป็นหนึ่งมายาวนานจนตระกูลวอลตัน ผู้เป็นเจ้าของติดอันดับมหาเศรษฐีในอเมริกาหลายปี แต่มาวันนี้กำลังถูกท้าทายจากอเมซอน ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจมาจากการขายหนังสือออนไลน์เท่านั้น

บทบาทของอเมซอนในวันนี้ขยายขึ้นจากเดิมมหาศาล เพราะอินเทอร์เน็ตผลักดันให้อเมซอน ไม่เพียงแต่ขายหนังสือแต่ขยายตลาดไปยังสินค้าทุกประเภท จนเริ่มทำให้ธุรกิจค้าปลีกทั่วไป รวมถึงวอลมาร์ตต้องปิดตัวลงหลายสาขา เพราะยอดขายตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่วอลมาร์ตกำลังลดขนาดธุรกิจของตัวเองลง อเมซอน กลับสยายปีกให้แผ่กว้างไปด้วยการทุ่มทุนกว่า 13,700 ล้านดอลลาร์ ซื้อกิจการ Whole Foods Market ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่มีสาขาทั่วสหรัฐ รวมถึงแคนาดาและอังกฤษ

การซื้อกิจการครั้งนี้ทำให้อเมซอน สามารถผสมผสานการตลาดทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น อเมซอนยังขยายไปสู่ธุรกิจบันเทิงด้วยการซื้อและผลิตรายการเป็นของตัวเองเพื่อแข่งกับ Netflix และ Apple

แต่ที่ก้าวไกลจนเกินใครจะตามทันก็คือ เจฟ เบซอส เจ้าของและผู้ก่อตั้งอเมซอนกำลังเอาจริงเอาจังกับการบุกเบิกธุรกิจ “ท่องอวกาศ” ให้นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักที่เบื่อการเดินทางท่องเที่ยวบนโลกแล้ว โดยสร้างกระสวยอวกาศ Blue Origin ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ในอวกาศได้เป็นเวลาสั้น ๆ

โครงการอวกาศของผู้ก่อตั้งอเมซอนนี้ทำในสิ่งที่นาซ่าไม่เคยทำได้คือลดต้นทุนในการขึ้นสู่อวกาศด้วยชิ้นส่วนที่ใช้ซ้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การท่องเที่ยวอวกาศเป็นสิ่งที่คนทั่วไปก็สามารถทำได้ โดยที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

โลกแห่งเทคโนโลยีจึงไม่เพียงเปลี่ยนโฉมธุรกิจบนโลก แต่ส่งผลไปไกลถึงนอกโลกเลยทีเดียว