คุมก่อหนี้ครัวเรือน ต้องระวังผลข้างเคียง

คุมก่อหนี้ครัวเรือน ต้องระวังผลข้างเคียง

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานออกมาล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2560

 มียอดคงค้างรวมทั้งสิ้น 11.48 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ราว 78.6% แม้สัดส่วนดังกล่าวจะลดลงบ้าง เมื่อเทียบกับอดีตที่เคยสูงสุดที่ 81.2% แต่ยังถือเป็นระดับที่สูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย รองจากออสเตรเลียและเกาหลีใต้

นอกจากนี้งานศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่สำรวจจากฐานข้อมูลของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” พบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ครัวเรือนต่อหัว ที่ยังไม่รวมหนี้เพื่อการศึกษา หนี้จากสหกรณ์ และหนี้นอกระบบ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2552 ที่สำคัญปริมาณหนี้ต่อหัวก็เพิ่มขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันยังพบว่า คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ประมาณครึ่งหนึ่งของวัยเริ่มทำงานก็มีหนี้แล้ว และคนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) สูงสุด โดย 1 ใน 5 ของผู้กู้มีอายุ 29 ปี อีกทั้งยังพบว่า คนไทยมีหนี้นานและปริมาณหนี้ยังทรงตัวในระดับสูงแม้ใกล้วัยเกษียณ

การที่คนวัยเริ่มทำงานมีหนี้เสียค่อนข้างสูง อาจส่งผลต่อความสามารถการเข้าถึงสินเชื่อ และพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคของคนกลุ่มนี้ในอนาคต ซึ่งกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มการใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มอื่น

ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงต้องวางนโยบายปลูกฝังความรู้และวินัยการเงิน โดยที่ผ่านมาได้เปิดโครงการ “เปย์ไม่เจ็บ เก็บไม่จน” เพื่อปลูกฝังกลุ่มคนเจนวายให้รู้จักการใช้เงินและเก็บออม และล่าสุด ธปท. มีแผนที่จะคุมในฝั่งของคนปล่อยกู้ด้วย โดยได้เชิญธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ซึ่งให้บริการด้านสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตมาแลกเปลี่ยนความเห็น (เฮียริ่ง) เกี่ยวกับการออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อควบคุมการก่อหนี้ภาคครัวเรือน

ภายหลังการเฮียริ่งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ปรากฏข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มากมายว่า เกณฑ์ใหม่ที่ ธปท. เตรียมนำมาใช้มีการจำกัดวงเงินการให้สินเชื่อตามฐานรายได้ โดยในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตนั้น คนรายได้ 15,000-30,000 บาทต่อเดือน ได้รับวงเงินบัตรเครดิตไม่เกิน 1.5 เท่า รายได้ต่อเดือน 30,000-50,000 บาท ไม่เกิน 3 เท่า และ 50,000 บาทขึ้นไป ไม่เกิน 5 เท่า จากเดิมที่ทุกระดับรายได้จะได้วงเงินบัตรเครดิตไม่เกิน 5 เท่า เหมือนกันหมด

สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล มีกระแสข่าวว่า ธปท. จะกำหนดให้ผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท ได้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1.5 เท่า พร้อมจำกัดสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 3 แห่ง ส่วนผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทขึ้นไป ยังคงได้รับสินเชื่อไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน

มาตรการควบคุมการก่อหนี้ในลักษณะนี้ ถือเป็นเรื่องดี เพราะปัจจุบันสังคมไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับค่านิยมผิดๆ ชอบความฟุ้งเฟ้อ บางคนเพิ่งเริ่มทำงาน รายได้ไม่สูงนัก แต่ก็ใช้วิธีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อสินค้าแพงๆ กินอาหารหรูๆ จนทำให้หนี้สินล้นพ้นตัว

หาก ธปท. ควบคุมการก่อหนี้ในส่วนนี้ได้ถือเป็นเรื่องดี แต่ขณะเดียวกันต้องระมัดระวัง ไม่ให้มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบข้างเคียง ไปยังต่อคนที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ เพราะไม่เช่นนั้นเท่ากับเป็นการบีบให้กลุ่มคนเหล่านี้ ต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบแทนได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น