'ศิลปิน' สองแนวทาง

'ศิลปิน' สองแนวทาง

รายการวิวาท-วิวาทะ ของ “ศิลปินรุ่นเดียวกัน” จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติ ไม่ใช่เรื่องใหม่

นับแต่เกิด “ขบวนการคนเสื้อเหลือง” ศิลปินรุ่นเดียวกัน คนรุ่นเดียวกัน ก็แบ่งข้าง แยกค่าย ต่างก็ตีความคำว่า “ประชาธิปไตย” คนละความหมาย

คนรุ่นนั้น หมายถึงรุ่นก่อน-หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. ก็มี “สงครามความคิด” กันอยู่บ่อยๆ เนื่องจากแนวทาง-ความคิดการเมืองไม่ตรงกัน 

ฝ่ายหนึ่งเกลียดอำมาตย์ อีกฝ่ายก็ไม่เอาทักษิณ

ยิ่งมี “ขบวนการคนเสื้อแดง” เกิดขึ้น ยิ่งทำให้ภาพ “ศิลปินสองแนวทาง” ชัดเจนขึ้น

4-5 ปีมานี้ เฟซบุ๊คได้รับความนิยม เลยทำให้ความขัดแย้งของศิลปินสองขั้วเพิ่มทวีขึ้น โดยเฉพาะช่วงมี “ขบวนการนกหวีด”

ตอนที่มีเสียงเพลง “สู้ไม่ถอย” ดังกระหึ่มที่เวที กปปส. ก็มีเสียงทักท้วงจากอีกขั้วสีหนึ่งว่าไม่เหมาะสม

เหมือนตอนที่เสียงเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ดังก้องจากเวทีคนเสื้อเหลือง และคนเสื้อแดง ก็มีคนแอบคิดเล่นๆ ว่า หาก “จิตร ภูมิศักดิ์” ยังมีชีวิตอยู่ จะขึ้นเวทีไหน?

สมัยก่อน มีทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้ง และมีคนเสนอว่า วิธีแก้ความขัดแย้งภายใน “คนรุ่นเดียวกัน” น่าจะใช้สูตรรูปธรรมว่า “สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี”

บางคนบอกว่า นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งภายในหมู่ประชาชน แต่เรื่องความขัดแย้งทางชนชั้น

ฝ่ายหนึ่งก็จะอ้างเหตุผล เพราะศิลปินกลุ่มนั้น สนับสนุนอำมาตย์

อีกฝ่ายหนึ่งก็จะชี้ว่า ศิลปินกลุ่มนั้น สนับสนุนทุนสามานย์

พวกเขาจึงเลือกใช้วิธีการ ต่อสู้อย่างเหี้ยมโหด โจมตีอย่างไม่ปรานี หรือพูดอีกอย่าง “เราไม่มีวันปรองดองกันได้”

ฉะนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาพูดว่า “เขียนกลอนครั้งเดียว ทำให้ศิลปินแห่งชาติทะเลาะกัน” มันแค่ปลายเหตุ และด่วนสรุปเช่นนั้นก็ไม่ถูก

ต้นต่อบ่อเกิดความขัดแย้งคือ จุดยืน แนวทาง และอุดมการณ์ ที่ต่างกัน

“พล.อ.ประยุทธ์” คือตัวแทนของระบอบ ที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ ทำนองเดียวกัน “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ก็คือ ตัวแทนระบอบที่อีกฝ่ายหนึ่งยอมให้มีที่ยืนในสังคมไทยไม่ได้

อย่าเพ้อฝันเรื่องปรองดองตามที่ คสช.พยายามกรอกหูเช้าเย็น อย่าหวังว่า คนรุ่นนั้นที่แยกทางห่างเหิน จะหันหน้ามาพูดคุยกัน

10 กว่าปีมานี้ ความขัดแย้งมันลงลึก และฝังลึก

และนี่คือ สงครามความคิดเรื่องการรื้อโครงสร้างอำนาจเก่า กับการพิทักษ์รักษาโครงสร้างเดิม