หยั่งรู้ดิจิทัลศาสตร์แห่งความอยู่รอด(9)Business Challenge

หยั่งรู้ดิจิทัลศาสตร์แห่งความอยู่รอด(9)Business Challenge

ธุรกิจต้องเผชิญกับการตัดสินใจในการใช้นวัตกรรมและเครื่องมือดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการค้าและเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กร 

ปัจจุบันผู้คนสัมผัสกับดิจิทัลในหลายรูปแบบทั้งทางด้านการตลาดผ่าน “Digital Marketing” การโฆษณาผ่าน “Digital Media” และการขายผ่าน “Digital Commerce” จนเกิดเป็นการขายแบบ 360 องศาอย่าง “OmniChannel” ควบคู่ไปกับความนิยมของการชำระเงินผ่าน “Mobile Payment” ตลอดจนการดูแลและบริการลูกค้าผ่านระบบ “eCRM” หรือระบบ “Marketing Automation” รวมถึงระบบการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและดึงความสนใจของลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มอย่าง “Analytics” และ “Target”

ดิจิทัล ยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจและอุตสาหกรรมในด้านการปฏิบัติงานและกระบวนการผลิตผ่านหุ่นยนต์และสมาร์ทแอพพลิเคชั่นอย่าง “Artificial Intelligence (AI)” รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานใหม่เพื่อเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมของคู่ค้าผ่านนวัตกรรมอย่าง “อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT)” และการเกิดขึ้นของนวัตกรรมอย่าง “Blockchain” หรือฟินเทคที่พร้อมจะ Disrupt อุตสาหกรรมและเปิดโอกาสให้กับผู้เล่นหน้าใหม่อย่างท้าทาย

ปลูกฝังดิจิทัลสู่ฐานรากธุรกิจ

ความพอใจของผู้บริโภคต่อการใช้ไลฟ์สไตล์ดิจิทัลและการแข่งขันทางธุรกิจที่รวดเร็วและรอบด้าน ทำให้องค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปรับตัวเพื่อนำดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ การผลิตและการปฏิบัติงานได้อีกต่อไป 

จากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร 3,700 รายถึงการเตรียมองค์กรเพื่อรองรับดิจิทัลในอนาคตโดย MIT Sloan Management Review และดีลอยต์ในปี 2015 พบว่าเกือบ 90% ของผู้บริหารเชื่อว่าธุรกิจจะถูก Disrupt ด้วยดิจิทัล และมีเพียง 44% เท่านั้นที่คิดว่าองค์กรของตนจะพร้อมรับมือกับดิจิทัล Disruption ที่จะเกิดขึ้น

การสำรวจยังพบว่า ข้อจำกัดของการทรานส์ฟอร์มองค์กรให้มีความพร้อมทางดิจิทัล มักเกิดจากการขาดแคลนทรัพยากร การขาดบุคคลากรที่เชียวชาญ การขาดวิสัยทัศน์และการให้ความสำคัญ จนทำให้ทีมบริหารที่ผลักดันงานด้านนี้จำเป็นต้องลดความสำคัญของการทรานส์ฟอร์มองค์กรลง เหลือเพียงลักษณะของโครงการหรือกิจกรรมที่เกิดเฉพาะในแผนกหรือส่วนงานที่จำเป็นเท่านั้น

ทั้งที่การก้าวขึ้นเป็นองค์กรที่มีความพร้อมและความสามารถทางดิจิทัลนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากการที่ผู้บริหารทำโครงการหรือกิจกรรมด้านดิจิทัลเท่านั้น แต่คือการที่องค์กรปลูกฝังดิจิทัลให้อยู่ในวัฒนธรรมและโครงสร้างขององค์กร “ดิจิทัล”ควรถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ บุคลากรต้องมีความเข้าใจและความพร้อมในการใช้เครื่องมือดิจิทัล เพื่อให้ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจขององค์กรนั่นเอง

นอกจากนี้ยังพบว่าองค์กรที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลสูง (Digital Maturity) จะมีลักษณะที่พร้อมต่อการเสี่ยง โดยจะนิยมการทดลองและวัดผลที่รวดเร็ว (Rapid Experimentation) ลงทุนกับบุคลากร องค์กรเหล่านี้มักไม่ได้ต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีสูง แต่กลับเฟ้นหาหรือพัฒนาผู้นำที่มีทักษะในการบริหารจัดการบุคลากรหรือทีมงานมากกว่า 

โดย 75%ขององค์กรเหล่านี้จะจัดงบประมาณและให้โอกาสบุคคลากรของตนในการพัฒนาและเสริมทักษะด้านดิจิทัลมากกว่า

รู้จริงธุรกิจปรับกลยุทธ์ให้ทันดิจิทัล

จากอดีตที่ผ่านมาธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการผลิต การใช้ระบบ ERP เพื่อการบริหารจัดการสต๊อกและสินค้า รวมถึงการเข้าร่วมในระบบซัพพลายเชนหรือระบบโลจิสติกส์กับเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถปรับใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงานได้สำเร็จ 

ทุกวันนี้กระแสดิจิทัลได้ถาโถมเข้าใส่ธุรกิจรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ อีเพย์เมนท์ ซีอาร์เอ็ม ฟินเทค หุ่นยนต์ AI หรือ IoT สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจและองค์กรคงอยู่คือ สินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีคุณค่า ทีมงานที่มีความชำนาญในการดำเนินงาน การผลิต การตลาดและการขาย ตลอดจนการบริการและการแก้ไขปัญหา รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและสร้างความรักในแบรนด์ให้กับลูกค้า

ถึงแม้ความรู้จริงในธุรกิจคือแกนสำคัญในการอยู่รอด แต่ดิจิทัลก็ได้สร้างโอกาสให้กับองค์กรและในขณะเดียวกันก็เปิดช่องทางให้คู่แข่งและผู้เล่นหน้าใหม่ องค์กรจึงจำเป็นต้องวางกลยุทธ์ดิจิทัลให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจและทรานส์ฟอร์มองค์กรให้มีความพร้อมต่อการแข่งขันในสนามดิจิทัล สร้างผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ด้านดิจิทัลและผลักดันให้ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรจนสำเร็จลุล่วง

หลักคิดดิจิทัล

การมีตำแหน่งงานที่มีคำว่า “ดิจิทัล” อยู่ในองค์กรไม่ได้หมายความว่าธุรกิจพร้อมแข่งขันในสนามดิจิทัล ธุรกิจควรเข้าใจว่าดิจิทัลเป็นเพียงเครื่องมือในการทำงานและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนแล้ว ดิจิทัลสามารถเปิดโอกาสธุรกิจออกไปในหลายด้าน ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำและการลงมือทำอย่างจริงจังที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้อยู่รอดและดำเนินต่อไปได้ในกระแสดิจิทัล