ผ่อนผันครั้งสุดท้าย ต่างด้าว-เจ้าหน้าที่รัฐ

ผ่อนผันครั้งสุดท้าย  ต่างด้าว-เจ้าหน้าที่รัฐ

ตลอดเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงได้ยินเสียงผู้ประกอบการด้านต่างๆ

 แม้แต่คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ที่เป็นเสาหลักในภาคธุรกิจ ออกมาร้องขอความเห็นใจจากรัฐบาล ในการผ่อนปรนสาระสำคัญของกฎหมายใหม่ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ที่เป็นการปรับแก้กฎหมายเก่าที่ใช้มานานกว่า 15 ปีให้มีความทันสมัย และมีการผนวกเนื้อหาของกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วยกัน โดยมีเจตนาในการกำกับดูแลแรงงานต่างด้าวในเมืองไทยให้เป็นไปตามกติกา

 เป็นการกระชับเนื้อหาสาระกฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น เข้มงวดมากขึ้น และเตรียมที่จะนำไปสู่การปฏิบัติกวาดล้างจับกุมกันอย่างจริงจัง หลังจากมีการปล่อยปละละเลย “ขยิบตา”กันมายาวนาน เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่บางรายในพื้นที่แรงงานต่างด้าวร่ำรวยแบบผิดปกติ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นข้อเท็จจริงตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)บอกไว้ ว่าหากใครที่ทำถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่มีอะไรต้องกังวลและขออย่าได้ตื่นตระหนก

ดังนั้นการออกมาเรียงหน้าคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายจึงดูเหมือนเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าที่ผ่านมามีการละเลยกันอย่างกว้างขวาง และผิดกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่หวังลดต้นทุนในการผลิต รวมไปถึงส่วนงานที่ไม่อาจปฏิเสธความผิดได้เลยก็คือ“เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่มีหลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องมีคำถามและเป็นประเด็นต้อง“สะสาง”ในขั้นตอนต่อไป ว่าปล่อยให้มีการกระทำที่ผิดกฎหมายมายาวนานเช่นนี้ได้อย่างไร

ที่สำคัญที่ผ่านมารัฐบาลได้“ผ่อนปรน” ให้มีการทำให้ถูกกฎหมายมาแล้วหลายครั้ง ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมามีการเปิดให้ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายไปแล้วถึง 4 ครั้ง กระบวนการพิสูจน์สัญญาติก็ยังคงดำเนินการอยู่กว่า 1 ล้านคน ท่ามกลางปัญหามากมาย เพราะฉะนั้นการออกมาเรียกร้องขอความเห็นใจในวันนี้จึงดูไม่น่ารับฟังมากนัก เพราะยิ่งผ่อนผันก็จะยิ่งเป็นการทำให้คนผิดได้ใจ แม้ว่ารัฐบาลจะเอื้อเฟื้อเพราะห่วงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเกรงธุรกิจเกิดความเสียหาย แต่สุดท้ายก็ต้องมีจุดสิ้นสุด ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหาไม่รู้จบ

แม้ว่ารัฐบาลจะไม่เปิดให้ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวอีกเป็นรอบที่ 5 แต่คำสั่งตามมาตรา 44 ก็แทบไม่แตกต่าง และเป็นช่องทางให้นายจ้างได้แก้ตัวกันอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้จะต้องเป็นครั้งสุดท้าย เพราะไม่เช่นนั้นกฎหมายก็จะไร้ความศักดิ์สิทธิ์ ส่วนประเด็นการลงทะเบียนลูกจ้างที่มีค่าธรรมเนียมสูงขึ้นมาก หากรัฐบาลจะพิจารณาให้เหมาะสมก็เป็นเรื่องหนึ่ง ที่ต้องแยกจากการเอาผิดในกรณีไม่ทำตามกฎหมาย และเมื่อกระทำความผิด โทษจะหนักเบาอย่างไรก็คงไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ เพราะสิ่งเดียวที่ทำได้คืออย่าทำผิดกฎหมาย

การแก้ปัญหานี้จะต้องให้มีความชัดเจนเหมือนที่นายกรัฐมนตรียืนยัน ว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น และไม่กังวลที่จะต้องส่งแรงงานผิดกฎหมายกลับไป ดังนั้นหลังจากครบกำหนดผ่อนผันบทลงโทษ 4 มาตรา ในต้นปีหน้า สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่มีการละเว้นหรือผ่อนผันอีก และขณะเดียวกันก็ต้องเร่ง“สะสาง”ตัวการสำคัญของปัญหา คือเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกรับผลประโยชน์ ละเลยการใช้กฎหมายจนเกิดความเสียหายใหญ่โตมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นอีกด้านที่ยังไม่ถูกพูดถึง และรัฐบาลต้องจัดการให้สิ้นซาก