ชีพจรกำลังซื้อ ครึ่งปีแรกยังชะลอ

ชีพจรกำลังซื้อ ครึ่งปีแรกยังชะลอ

ผ่านพ้น “ครึ่งปีแรก” ด้วยอาการหืดจับ สำหรับตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย ที่มีมูลค่าประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท

 หลากหลายสินค้ายอมรับ และเข้าใจกับภาวะ “กำลังซื้อที่ชะลอตัว” 

ภาพหนึ่งที่สะท้อนชัดถึงสถานการณ์ดังกล่าว คงต้องยกให้มหกรรมงานแสดงสินค้าครั้งใหญ่ “สหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 21” ของเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่ของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหนัง เครื่องกีฬาต่างๆ

ตลอดเวลา 4 วันของการจัดงาน ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-2 ก.ค. 2560 แน่นอนว่า มีทั้งช่วงที่ผู้คนหนาตา-บางตา ไม่อาจบ่งบอกสถานการณ์กำลังซื้อได้เท่ากับ “ยอดขาย” ภายในงานที่เครือฯนำสินค้ามาออกงานกว่า 1,000 บูธ

โดยในทุกวันของการขายทุกบูธจะต้องทำ “เป้ายอดขาย” ให้ทะลุตามที่ตั้งไว้ หากแต่วันสุดท้ายของงาน กลับเสียงบ่นจากหลายบูธถึงยอดขายที่พลาดเป้าหลักหลายหมื่นบ้าง หลักแสนบ้าง ทั้งที่ระหว่างการขาย แต่ละบูธออกแรง ฮึด! ส่งเสียงสร้างแรงจูงใจให้ “ผู้บริโภค” หันกลับมาชอปปิงสินค้ากลับบ้าน โดยเหตุปัจจัยของยอดขายที่ไม่ถึงเป้า พนักงานขายหลายรายให้เหตุผลว่า เป็นเพราะความหลากหลายของสินค้าแต่ละบูธว่าจะนำมาจำหน่ายมากน้อยแค่ไหน การเรียกแขก ตลอดจน “จำนวน” ผู้เข้ามาชอปปิง

สอดคล้องกับผู้บริหารหลายท่านในเครือสหพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ กำลังซื้อในช่วงที่ผ่านมายังไม่ “ฟื้นตัว” เท่าที่ควรจะเป็น

แน่นอนว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ กำลังซื้อเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดาได้ว่าเมื่อไหร่ที่จะโงหัว เพราะภาวะ “หนี้ครัวเรือน” ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแห่หั่นราคาสินค้าลง จัดโปรโมชั่นแรงขึ้นทุกๆสิ้นเดือน เป็นไปเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ผลักดันยอดขายบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

แต่กระนั้น ธุรกิจก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว จากคำบอกเล่าของ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ กำลังซื้อในไตรมาส 3 ว่า จะเริ่มเห็น “แสงสว่างจากปัจจัยราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงนโยบายภาครัฐที่เร่งการลงทุน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “เพชรเม็ดใหม่ของการลงทุน”

 เมื่อธุรกิจหลายเซคเตอร์ตั้งความหวังว่า “ครึ่งปีหลัง” จะดีขึ้น ทำให้เห็นการจัดกิจกรรมการตลาดกันอย่างคึกคัก ปรับกลยุทธ์เพื่อ “กระตุ้น” การจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการปั๊มยอดขาย

อย่างไรก็ตาม แม้ครึ่งปีหลังหลายคนจะมอง “บวก” แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีปัจจัยที่ต้องรับมือโดยเฉพาะสภาพฝนฟ้าอากาศ เพราะโดยปกติฤดูฝนเป็นช่วงโลว์ซีซันธุรกิจหลายเซคเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว ห้างค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ฯ 

จะเดินเกมธุรกิจอย่างไรก็คงต้องพิจารณาให้รอบคอบ

..............................................

สาวิตรี รินวงษ์

[email protected]