เรา 'คนไทย' ไม่ใช้ 'ปมด้อย' ใช้รถใช้ถนน

เรา 'คนไทย' ไม่ใช้ 'ปมด้อย' ใช้รถใช้ถนน

ในฐานะคนไทยด้วยกัน และยังได้ฟังบทกลอนของ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กระตุ้นเตือนจิตสำนึกความเป็นไทย

ให้สามัคคีรักใคร่ปรองดอง พานึกไปว่าท่านอาจมีโอกาสได้อ่านหรือเห็นบทความของผมบ้างก็อาจเป็นได้ เพราะพยายามกระตุ้นจิตสำนึกหลายสิ่งหลายอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประพันธ์ขึ้นมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว

ดังที่พูดกันมาช้านานว่า “วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ” เป็นเรื่องจริงอย่างไม่ต้องสงสัย ในงานวิจัยประเมินผลโครงการ “ป้องกันอุบัติภัยทางถนนอย่างบูรณาการ” ด้วยทุนสนับสนุนของ สสส. ที่ผมเป็นหัวหน้างานวิจัยเมื่อหลายปีก่อน เชื่อมั่นว่าข้อมูลยังไม่เก่าเกินกระทั่งต้องมาวิจัยกันใหม่ ก็เหมือนที่เราจะปฏิรูปตำรวจกันนั่นเอง ผมเคยพูดในที่ประชุมเมื่อได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “ตำรวจ” ขอร้องว่าสิ่งที่อย่าทำเลยถ้าคิดจะปฏิรูปตำรวจ คือ “ ไม่ต้องตั้งกรรมการชุดนั้นชุดนี้มาศึกษาหาความรู้กันอีก เฉพาะงานวิจัยของผมรวมวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก นับเนื่องก็น่าจะ 5-6 ชิ้นเข้าไปแล้ว ผลการศึกษาของผมกับของคนอื่นๆ ชี้เป้าปัญหาที่จะต้องแก้ไขไม่ต่างกัน “แต่การปฏิรูปที่มันทำไม่ได้มีปัจจัยแทรกซ้อนเรื่องอื่นๆ จิปาถะ” เรื่องการจราจรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ตำรวจ” อยู่บางส่วนจึงหยิบยกมาพูดซ้ำ แต่จะขอย้อนมาเรื่องการกวดขันหรือสร้างเสริมสุขนิสัย “ลดปมด้อย” ในการใช้รถใช้ถนนของ “คนไทย” เพิ่มเติม

ประการแรก อย่าไปถือว่ากว่าท่านจะซื้อรถที่ท่านขับขี่มาได้ ต้องอดมื้อกินมื้อ ต้องทำงานงกงก เพราะถ้าคิดเช่นนี้ เวลามีใครมาทำรถคุณเปื้อนฝุ่นมีริ้วมีรอย คุณอาจโกรธถึงขั้นเอาชีวิต ถ้าเบาลงมาคิดว่านี่มันทรัพย์สินสิ่งของ เสียก็ซ่อม เก่าก็ทำใหม่ได้ เรื่องขี้ผงจะไม่มีปัญหาตามมา แต่คิดกันไม่ค่อยได้เลยมีข่าวให้คนมากราบกรานรถ มีคนมาบีบแตรขอทางก็โมโห ถอยหลังมาทับบู้บี้ไป คดีจราจรธรรมดา เกือบกลายเป็น “พยายามฆ่า” ก็มาก ถ้าเรื่องเล็ก คิดเป็นเรื่องใหญ่จะบานปลาย

ประการที่ อย่าคิดมากว่า เราทำดี ทำไมคนทำเลวมันแซงได้ มันไปเร็วกว่า ถ้าคุณมัวแต่คิดแบบไม่ลดละ จะทำให้คุณดูเหมือนเป็นคนเห็นแก่ตัวไปในบัดดล ในชีวิตจริงคนเรามีเลวดีปะปนกัน คิดว่าวันนั้นคุณโชคไม่ดีมาเจอคนเลว ให้นึกเข้าไว้ว่าคุณเป็นใคร ทำอาชีพการงานอะไร มีลูกเต้ามีครอบครัวต้องดูแล จะได้สบายใจและมองคนเลวเหล่านั้นด้วยใจเมตตา มันอาจมีเหตุอื่นที่มิใช่ความเลวอย่างบริสุทธิ์ เขาอาจจะรีบร้อนด้วยญาติมิตรเขาเจ็บป่วย บางทีคนเฒ่าคนแก่ เรี่ยวแรงไม่รู้จะขึ้นสะพานลอยคนข้ามได้อย่างไรก็มี เพราะที่ควรจะให้คนได้ข้ามก็สร้างไม่ได้ เพราะมี “มือที่มองไม่เห็น” มาขอย้ายสะพานลอย บางแห่งเฉือนสะพานให้เดินขึ้นลงได้ข้างเดียวเพราะไปสร้างบังห้างเขา โรงแรมเขา ถ้าคิดเยอะจะแก่เร็ว

ประการที่ ในสังคมมีคนประเภทไม่เดินสายกลาง ผมเคยได้ยินรุ่นน้องเป็นนักการเมืองชื่อดังบอกว่า เมืองไทยจะเจริญกว่านี้ถ้าเลือกจะไปทิศใดทิศหนึ่งให้สุดโต่ง เขาเลือก “สุดโต่ง” ของเขาเหมือนกัน เพราะเขาเป็นคนธรรมดา ในยุคที่พรรคการเมืองเป็นพรรคของนายทุน ต้องเอาเงินมากองเป็นร้อยล้านหรือเป็นญาติกับ “เจ้าของพรรค” ถึงจะได้เป็นเสนาบดี เขาเป็นคนเก่ง หัวหน้าพรรคเลยตอบแทนให้เขาได้ดีเป็นรัฐมนตรีอยู่เกือบปี แต่เวลานี้ หนีข้อหา ม.112 ไปอยู่ที่ใดก็ไม่ทราบได้ ไม่แน่ใจว่ายังเชื่อใน “ทฤษฎีสุดซอย” อยู่หรือไม่ ถ้านำแนวสุดซอยมาปรับใช้กับการใช้รถใช้ถนนจะพบว่า บางคนเครียดมาก มีรถมาจอดชิดหัวท้าย ก็เครียด โวยวายมาจอดชิดอย่างนี้จะออกได้อย่างไร เมื่อมีคนมาให้สติว่าข้างหน้ารถวิ่งไปแล้วออกได้หรือไม่ ถึงจะรู้ตัว อย่าโกรธกระทั่งขาดสติ โลกสวยไว้ครับ

ประการที่ อย่าเอา “ปมริษยา” ซึ่งผมคิดว่ามันเป็น ปมด้อย อย่างหนึ่ง เพราะถ้าคนเราเห็นคนอื่นได้อะไรแล้วคิดว่าทำไมไม่เป็นเราเป็นเขาไปได้อย่างไร สะท้อนการมองเห็นคุณค่าของตัวคุณด้อยกว่าคนอื่น ในการศึกษาวิจัยที่พูดไว้ข้างต้นมีคนให้สัมภาษณ์ต่อคำถามว่า บางทีรถแทรกเข้ามาตั้งห่างแต่ทำไมต้องวิ่งไปปิดทางเขา มีคนตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “ก็เขาไม่เปิดไฟขอทาง นี่ถ้าขอทางสักนิดก็ให้แล้ว” คนพวกนี้ “จริงจังกับชีวิตเกินไป (rigid)” เห็นอะไรไม่เข้าหูเข้าตาร้องได้ต้องร้อง ขอให้ได้ปลดปล่อยอารมณ์ความเครียดสักนิดก็สบายใจ ผมเข้าใจดีครับว่าหลายท่านที่เคยขอทางแต่กลับเจอคนวิ่งมาปิดทาง ถ้าเราเชื่อเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ถือเสียว่าเขาคงเจอแบบนั้นมาเลยน้อยอกน้อยใจ ถ้าท่านหยุดที่ตัวท่านได้ การกระทำเลวๆ มันจะค่อยๆ หมดไป อย่าไปจองเวรเลย ปกติขอกันดีๆ ถ้าไม่คับขันเกินไปส่วนใหญ่ก็ยอมกัน

ประการที่ ในอังกฤษสมัยที่ผมเรียนหนังสือ เขาออกแคมเปญ (การรณรงค์) เรื่องวินัยจราจรเหมือนกัน ทำนองว่า รถใหญ่เกลียดรถเล็ก รถเล็กก็เกลียดมอเตอร์ไซค์ รถทั้งมวลก็ไม่ชอบจักรยาน จักรยานก็ไม่ชอบคนเดินถนน คนเดินถนนก็โทษคนที่ใช้รถใช้ถนนว่าเอาเปรียบเขา จ่ายภาษีเหมือนกันแต่เขาต้องเดินถนน ประมาณว่าพวกแกรวยมีรถราใช้ ได้ใช้ทรัพยากรของรัฐ คือ “ท้องถนน” กันสบายใจเฉิบ ต่างคนต่างมองจากตัวเอง (Us and them) ไม่เอื้อเฟื้อกัน 

ถ้ามัวแต่มองปมของตัวเองทุกคนก็จะใหญ่คับฟ้าคับแผ่นดิน ไม่มีใครยอมใคร เหมือนพฤติกรรมแปลกๆ ของคนขับรถราคาแพงที่มีปมด้อย เพราะเวลาเขาบอกไม่ให้เข้าไม่ให้จอดก็จะหงุดหงิด เริ่มทบทวนว่าตัวเองเป็นใคร ลูกใคร พ่อเป็นใคร เลยสับสนอลหม่าน ฆ่าแกงกันเพราะความคิดโง่ๆ แบบนี้มามาก เพราะเอาคำว่า “ศักดิ์ศรี ที่ผมดูแล้วมันไม่ตรงกับ dignity เพราะศักดิ์ศรีแบบที่เป็นๆ กันในบ้านเราดูเหมือนจะตรงกับคำว่า “respect” ในภาษาอังกฤษที่มันออกจะมาในแนว ฉันเป็นใครให้มันรู้เสียบ้าง เป็นภาษา “นักเลง หรือจะเรียกว่า กุ๊ย” ก็ได้ เฉี่ยวชนกันเป็นคดีแพ่งกลายเป็นคดีอาญา กลายเป็นผู้ร้ายข้ามแดนก็มีอยู่ 

ที่ร้ายกว่าคือ เกิดจิตหลอนหลอกได้แม้กระทั่งตัวเอง ผมเคยเจอบางคันมีสติ๊กเกอร์หน่วยงานสารพัดติดเต็มกระจกหน้ากระทั่งไม่รู้ว่าเขาจะขับรถเห็นทางหรือไม่ หลายอันเป็นป้ายหมดอายุ หลายอันเป็นการแอบอ้าง อย่างป้ายกรมราชองครักษ์ ผมเห็นด้วยเลยว่า ถ้าไปเจอคนเอามาติดทั้งที่ไม่ใช่ข้าราชการในสำนักงานนั้นๆ เอามาติดเพื่อเบ่งหรือหาประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง ต้องดำเนินคดีคนพวกนี้ให้เข็ดหลาบ 

ที่มีอยู่มากก็พวกรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนทั้งรถเก๋ง มอเตอร์ไซค์ซีซีสูง รวมทั้งรถติดไฟวับวาบทั้งที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ เคยจับได้กลายเป็นผู้รับเหมา อยากให้คนคิดว่าตัวเองเป็นใหญ่เป็นโต เลยเอาไฟไซเรนมาติดตั้งเปิดใช้งานแบบไม่มีเหตุผล บางคันขับรถราคาแพง ทางที่เขากั้นเขาเขียนป้ายห้าม เอากรวยตั้งไว้ก็เบียดกรวย เบียดเสาพลาสติก แซงไป วันหลังหากมีโอกาสเจอท่านผู้ว่าฯ หรือ กระซิบบอกเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นรองผู้ว่าฯ แล้วเขารับฟัง จะขอให้จราจรกลางกับ กทม. เอาเสาเหล็กจริงๆ มาตั้งไว้ แบบที่ทำกับกล้องวงจรปิดของ กทม. ที่มีกล้องจริงกับกล้องหลอก (กล้อง dummy) สลับกัน เผื่อจะได้กระจายรายได้ให้อู่สีกับคนงาน 

ถ้าเรื่องที่เขียนไปพ้องกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดขอให้เข้าใจว่ามันเป็น “นิทาน fictional หรือตัวละครสมมติ” เอาไว้สำหรับเป็นอุทาหรณ์ ก็ขอให้เข้าใจตรงกันครับว่า เขียนมาก็เพื่อกระตุกต่อมสำนึกการใช้รถใช้ถนนในบ้านเรา ที่ต้องปฏิรูปแปลงโฉมกันเช่นเดียกับเรื่องอื่นๆ ในบ้านเมืองนี้